เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน โดย บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และกรมป่าไม้ ได้จัดสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้มภาคใต้ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วยชุมชนจาก 12 จังหวัดภาคใต้ คือ ชุมพร ระนอง กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส กว่า 80 คน ได้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ภายใต้แนวคิด “เครือข่ายป่าชุมชนกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม” โดยมุ่งเน้นการรักษาพื้นที่ป่าและความสมบูรณ์ของนิเวศป่าไม้ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้นำป่าชุมชนจนเกิดการสร้างเครือข่ายพึ่งพากันและกันระหว่างป่าชุมชนในที่สุด โดยให้ชุมชนเป็นผู้วางแผนและตัดสินใจ ในการอนุรักษ์ และจัดการทรัพยากร และผลผลิตจากป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า กิจกรรมสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้มภายใต้ โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน จัดโดย บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และกรมป่าไม้ ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาป่าไม้อย่างยั่งยืนภายใต้กระบวนการพัฒนาป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน โดยการขยายผลต่อยอดองค์ความรู้จากการเรียนรู้กิจกรรมการมีส่วนร่วมที่ใช้ได้จริง และส่งเสริมให้เกิดกลุ่มเครือข่ายที่เข้มแข็งในการพัฒนาและปกป้องงานด้านป่าชุมชน จากการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการสร้างมิตรภาพความผูกพันของเครือข่าย และหวังว่าชุมชนที่เข้าร่วมสัมมนาจะนำองค์ความรู้กลับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งร่วมดูแลรักษาป่าได้อย่างยั่งยืน และสามารถเป็นตัวอย่างของป่าชุมชนแห่งอื่นได้ต่อไป นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้บูรณาการการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวคิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานชุมชนเพื่อการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าอีกด้วย
การสัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้มภาคใต้เริ่มต้นโดยการแบ่งกลุ่มผู้นำป่าชุมชนจาก 12 จังหวัด ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดในหัวข้อ “การจัดการป่าชุมชนในอดีตและการดูแลป่าในอนาคต” ซึ่งชุมชนได้แบ่งปันประสบการณ์ในการจัดการป่าชุมชนของแต่ละชุมชน เช่น ความรู้ในการจัดการเรื่องไฟป่า การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร การดูแลป่าเสื่อมโทรมให้มีความอุดมสมบูรณ์ การดูแลป่าในอนาคตโดยการสร้างจิตสำนึก ความเข้าใจเรื่องการจัดการป่าชุมชนและการพึ่งพิงป่าที่ยั่งยืนกับชาวบ้าน การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อปกป้องป่าชุมชน และการจัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนรักษาป่า
กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานป่าชุมชนบ้านวังศิลาดิเรกสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เคยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2531 เนื่องจากมีการบุกรุกทำลายผืนป่าและมีพื้นที่ป่าที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม น้ำไหลบ่าจากเทือกเขาพัดพาท่อนซุงขนาดใหญ่ไหลลงมาทำลายบ้านเรือน ส่งผลให้ผู้คนในหมู่บ้านตระหนักถึงภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นและร่วมกันฟื้นฟูผืนป่าให้กลับมา โดยนำรูปแบบการจัดการป่าชุมชนมาใช้ ราษฎรที่จับจองพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ทำกินส่วนตนได้คืนพื้นที่ให้กลับมาเป็นผืนป่าอีกครั้งและช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่หลงเหลืออยู่ โดยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านทำให้ป่ากลับมามีความสมบูรณ์อีกครั้ง เป็นป่าชุมชนที่ทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย และมีกลุ่มเครือข่ายในการดูแลป่าที่เข้มแข็งช่วยเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้ราษฎรในท้องถิ่น เช่น กลุ่มทำไม้กวาดดอกหญ้าจำหน่าย กลุ่มลูกชกซึ่งเป็นผลิตผลจากป่านำมาทำขนม กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับ กลุ่มเลี้ยงด้วง กลุ่มเลี้ยงหมูหลุม กลุ่มเลี้ยงผึ้ง รวมทั้ง การเก็บพืชผักสมุนไพรนำมาทำเป็นอาหารและยา เป็นต้น
การบรรยาย เรื่อง “พลังงานชุมชน หนทางสู่ความเข้มแข็งและความยั่งยืน” โดย คุณหรอหยา จันทรัตนา จากสำนักงานพลังงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเทคโนโลยีพลังงานถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดการใช้พลังงาน อาทิ เตาซุปเปอร์อั้งโล่ เป็นเตาถ่านที่มีการพัฒนาจากเตาอั้งโล่ในอดีต ช่วยลดมลพิษจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเตาธรรมดา เนื่องจากการออกแบบให้มีการเผาไหม้สมบูรณ์ ไม่ทิ้งสารตกค้างจากการใช้งาน และจากการให้ค่าความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูง จึงทำให้ค่าใช้จ่ายของอั้งโล่ธรรมดาและเตาซุปเปอร์อั้งโล่ แตกต่างกัน เพราะประหยัดถ่านได้มากถึง 150 กิโลกรัม/ปี หรือประหยัดเงินค่าหุงต้มได้ปีละ 750 บาท/ครัวเรือน
ผู้นำป่าชุมชนที่เข้าร่วมสัมมนา ได้ร่วมระดมความคิดว่า การเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาเครือข่ายชุมชนกล้ายิ้มภาคใต้ ทำให้ได้เจอเพื่อนกลุ่มเครือข่ายคนรักษ์ป่าจากหลายจังหวัด ได้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการป่าชุมชน ได้ความรู้ต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชนได้ สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมและการเป็นผู้นำ สำหรับความรู้และประสบการณ์ที่จะนำไปถ่ายทอดให้ชุมชน มีเรื่องการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงในชีวิตประจำวัน การจัดประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการผู้ร่วมดูแลป่าชุมชนเพิ่มเติม การสร้างกิจกรรมให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความผูกพันกับป่าเพื่อให้เห็นคุณค่าและรู้สึกหวงแหนป่า และการปรับปรุงบริหารจัดการป่าชุมชนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับเพื่อให้เป็นตัวอย่างกับหมู่บ้านอื่นๆ ได้
การดูแลป่าชุมชนในปัจจุบัน คือ การกระตุ้นให้คนในชุมชนร่วมคิดร่วมทำ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ธรรมชาติด้วยความเข้าใจ และเผยแพร่สิ่งที่ได้เรียนรู้โดยการบอกต่อให้กับผู้อื่น นั่นคือ สิ่งที่ผู้นำชุมชนได้สรุปไว้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit