ในวันที่ 21 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมธิการยุโรป (European Commission) แจ้งเตือนต่อรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ กรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing)โดยให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินตามมาตรการต่างๆ เพื่อถอดถอนใบเหลืองในมาตรการการจัดการปัญหาภายใต้แผนระดับชาติ กรมประมงมีแผนการ “นิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน” จำนวน 3,199 ลำโดยจะออกอาชญาบัตรเครื่องมือประมงอวนลากให้กับเรือประมงอวนลากที่ผิดกฏหมายเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม อันเนื่องมาจากมาตรการการลดและควบคุมจำนวนเรืออวนลากในน่านน้ำไทยที่ประกาศใช้เป็นระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(1)ว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการลดจำนวนเครื่องมืออวนลากและอวนรุนในปี พ.ศ. 2523 ทำให้เรือประมงอวนลากที่เกิดขึ้นหลังจาก พ.ศ.2523 เป็นต้นมา ถือเป็นเรือประมงที่ผิดกฏหมายทั้งสิ้น ดังนั้น กรมประมงไม่สามารถออกอาชญาบัตรเครื่องมือประมงอวนลากให้กับเรือประมงเหล่านี้ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง “เรือประมงอวนลากเถื่อน” คือเรือประมงที่กรมประมงไม่สามารถออกอาชญาบัตรการทำประมงอวนลากให้ได้ (เรือบางลำอาจจะสวมอาชญาบัตรเครื่องมือประมงชนิดอื่นแทน) แต่ยังทำการลากอวนอย่างผิดกฏหมายอยู่ในน่านน้ำไทยและน่านน้ำต่างประเทศ
งานวิจัย(2)หลายชิ้นสนับสนุนว่าการทำประมงอวนลากในประเทศไทยได้ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว รวมทั้งยังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของทรัพยากรสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการัง หญ้าทะเล ระบบนิเวศพื้นท้องทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านในทะเลเพื่อดักจับปลาให้เสียหายอยู่เสมอ ซึ่งกรมประมงก็ตระหนักในปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี
“ประมงอวนลากได้ทำร้ายทะเลไทยและชุมชนประมงชายฝั่งอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน การแก้ปัญหา IUU Fishing ต้องไม่ผลักสถานการณ์ประมงไทยให้เลวร้ายไปกว่านี้ด้วยการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน ในทางกลับกันรัฐควรจะพลิกวิกฤตที่ EU ให้ใบเหลืองประมงไทยเป็นโอกาสต่อมาตรการกำจัดเครื่องมือประมงทำลายล้างเหล่านี้ให้หมดไป” ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดินกล่าว
สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง สมุทรสงครามและสงขลาและเครือข่ายภาคประชาสังคม มีข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีดังนี้ :
1. หยุดนิรโทษกรรมเรืออวนลาก อวนรุน เครื่องมือจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อในเวลากลางคืน และมีแผนการจัดการกับเรือประมงผิดกฎหมายเหล่านี้อย่างชัดเจนและเด็ดขาด
2. มีมาตรการที่จะหยุด/ยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างพันธุ์สัตว์น้ำและทำลายห่วงโซ่อาหารสัตว์น้ำในทะเลอย่างรุนแรง 3 ชนิด คืออวนลาก อวนรุน เครื่องมือจับปลากะตักประกอบแสงไฟล่อในเวลากลางคืนอย่างชัดเจน และให้รัฐบาลออกมาตรการคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อน แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำหรือป้องกันการทำลายแหล่งเพราะพันธุ์สัตว์น้ำโดยออกมาตรการควบคุมธุรกิจอาหารสัตว์ปลาป่นที่ใช้สัตว์น้ำเศรษฐกิจ วัยอ่อนมาเป็นวัตถุดิบ
3. ดำเนินการแก้ไขวิกฤตประมงไทยที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้การจัดการวางแผนต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างโปร่งใสและมีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคส่วนประมงพื้นบ้าน/ชาวประมงชายฝั่งและภาคประชาชนอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในประเด็นต่อไปนี้เช่น3.1 มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPOA-IUU)3.2 มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างกฏหมายลูกที่จะมารองรับกฏหมายประมง พ.ศ.2558 และควรมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น ภาคส่วนประมงพื้นบ้าน และ ภาคประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียหมายเหตุ(1) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การลดจำนวนและจำกัดปริมาณเครื่องประมงทำลายล้างในประเทศไทย :http://www.greenpeace.org/seasia/th/PageFiles/674019/moac-reference.pdf(2) รายงานเจาะวิกฤตทะเลไทย http://www.greenpeace.org/seasia/th/PageFiles/528232/thai-singlePages.pdf(3) เครือข่ายภาคประชาสังคม ประกอบด้วย 1.สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 2.สมาคมรักษ์ทะเลไทย3.มูลนิธิสายใยแผ่นดิน 4.องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย 5.กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit