ในวันที่ 21 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมธิการยุโรป (EU) แจ้งเตือนต่อรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ กรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและขาดการควบคุม (IUU Fishing) โดยให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินตามมาตรการต่างๆ ตามแผนปฏิบัติการ
ต่อมากรมประมงได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา IUU Fishing โดยตั้งทีมเฉพาะกิจควบคุมเรือประมงที่ออกจากท่าในพื้นที่ 22 จังหวัด ขณะเดียวกันก็มีแผนการที่จะ “นิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน” (Illegal Fishing) จำนวน 3,199 ลำ โดยจะออกอาชญาบัตรเครื่องมือประมงอวนลากให้กับเรือประมงอวนลากที่ผิดกฏหมายเหล่านี้
“การใช้ใบเหลืองอียูเป็นข้ออ้างในการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อนของกรมประมงนี้ถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรปในการออกมาตรการ IUU Fishing เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และยังจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในการบริหารจัดการประมงและทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทยอย่างมหาศาล ตลอดจนสร้างความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรประมงของประชาชนในประเทศเป็นวงกว้างอีกด้วย” บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว
สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง สมุทรสงครามและสงขลาและเครือข่ายภาคประชาสังคม มีข้อเรียกร้องถึงคณะกรรมธิการยุโรปดังนี้
1. ให้คณะกรรมธิการยุโรปตรวจสอบมาตรการที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นในการปลดล็อคใบเหลือง เช่น การจดทะเบียนเรือ และออกอาชญาบัตรให้กับเรือประมงไทย เนื้อหาพรบ. ประมง พ.ศ. 2558 และแผนการแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติ ว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอียูต่อเป้าหมายในการมุ่งรักษาแหล่งอาหารโปรตีนธรรมชาติในทะเลและสร้างมาตรการการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ยั่งยืน
2. ให้คณะกรรมธิการยุโรปตรวจสอบเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดมาตรการปลดล็อคใบเหลืองประมงของรัฐบาลไทยเพื่อป้องกันความขัดแย้งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ และป้องกันการกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรประมงของชาวประมงขนาดเล็กซึ่งเป็นผู้มีความเปราะบางมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย
3. ให้คณะกรรมธิการยุโรปแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรการจากหลายภาคส่วนในแต่ละพื้นที่อย่างน้อยในเขต 22 จังหวัดที่มีท่าเรือและการทำการประมงอย่างเข้มข้นเพื่อตรวจสอบมาตรการที่ถูกกำหนดว่าได้มีการปฏิบัติจริงมากน้อยเพียงใด
4. ก่อนที่คณะกรรมธิการยุโรปจะออกมาตรการไม่ว่าการปลดใบเหลืองหรือการให้ใบแดง ให้คณะกรรมธิการยุโรปจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประมงพื้นบ้านและภาคประชาชน
5. เครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนเห็นว่า หากคณะกรรมาธิการยุโรปยอมรับมาตราการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของรัฐบาลไทยซึ่งมุ่งเพียงผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่โดยแลกกับความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน คณะกรรมาธิการยุโรปต้องตระหนักว่า แทนที่จะเป็นแนวทางออก กลับสร้างปัญหาที่เลวร้ายกว่าเดิมและจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย ความมั่นคงทางอาหาร วิถีการทำประมงและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงชายฝั่ง รวมถึงผู้บริโภคและสังคมไทยโดยรวมในที่สุดหมายเหตุ
(1) เครือข่ายภาคประชาสังคม ประกอบด้วย 1.สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 2.สมาคมรักษ์ทะเลไทย 3.มูลนิธิสายใยแผ่นดิน 4.องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย 5.กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit