กพร. เร่งพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการก่อนเออีซีเปิดโดยตั้งเป้าปี 58 ลดต้นทุนโลจิสติกส์ผู้ประกอบการกว่า 2,500 ล้าน พร้อมยกระดับไทยเทียบสิงคโปร์ มาเลเซีย

04 Jun 2015
นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กล่าวว่า ทิศทางของโลกต่อไปจะเป็นยุคดิจิทัลอีโคโนมี ดังนั้นเป้าหมายการดำเนินงานของสำนักโลจิสติกส์ ในปี 2558 – 2559 จะเน้นไปที่การประยุกต์เชิงดิจิทัลในการจัดการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมากขึ้น นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปกติ โดยมีทั้งการต่อยอดจากการดำเนินงานที่ผ่านมาและนำไปขยายผลในวงกว้าง โดยการดำเนินงานทั้งหมดเป็นการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม (พ.ศ.2555-2559) ซึ่งเป็นไปตามแผนโลจิสติกส์ของชาติ คือ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (2556-2559)สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2558 คาดว่าจะสามารถพัฒนาสถานประกอบการได้มากกว่า 340 ราย ลดต้นทุนได้มากกว่า 2,500 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรได้มากกว่า 6,000 คน และสามารถเชื่อมโยงโซ่อุปทาน 19 โซ่อุปทาน และได้ตั้งเป้าในปี 2559 จะสามารถพัฒนาสถานประกอบการได้มากกว่า 420 ราย ลดต้นทุนได้มากกว่า 3,200 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรได้มากกว่า 6,000 คน และสามารถเชื่อมโยงโซ่อุปทาน 20 โซ่อุปทาน
กพร. เร่งพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการก่อนเออีซีเปิดโดยตั้งเป้าปี 58 ลดต้นทุนโลจิสติกส์ผู้ประกอบการกว่า 2,500 ล้าน พร้อมยกระดับไทยเทียบสิงคโปร์ มาเลเซีย

ทั้งนี้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 2015 ถือว่ามีความสำคัญกับชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติ เพราะเท่ากับเป็นการรวมตัวของตลาดขนาดใหญ่ถึง 600 ล้านคน และทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนมีความแข็งแกร่งมาก ขณะเดียวกันในเรื่องของประสิทธิภาพโลจิสติกส์ ก็ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชาติอาเซียน ดังนั้น สำนักโลจิสติกส์ จึงเร่งส่งเสริมการลดต้นทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคการผลิต รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากการเปิดเสรี AEC ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเตรียมพร้อมสู่สากล โครงการพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจชายแดน (พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย) โครงการพัฒนาการมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น

สำหรับความพร้อมด้านโลจิสติกส์ของประเทศอาเซียนมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ติดอยู่ใน 40 อันดับของโลก จากรายงานผลการจัดอันดับความสามารถในด้านโลจิสติกส์ของประเทศต่างๆ 160 ประเทศ โดย World Bank พบว่า สิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก และที่ 1 ของอาเซียน ถัดมามาเลเซีย อยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก และที่ 2 ของอาเซียน ส่วนไทย อยู่ในอันดับที่ 35 ของโลก และที่ 3 ของอาเซียน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในอาเซียนด้วยกันระบบโลจิสติกส์ของไทยยังเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยทั้งสองประเทศมีจุดเด่นที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี และยังมีการส่งมอบสินค้าที่รวดเร็วตรงต่อเวลา ขณะเดียวกันมีการวางแผนที่ดี มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการโลจิสติกส์ แต่หากพิจารณาจากผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมแล้ว ประเทศไทยมีอัตราผลิตภาพที่สูงกว่า ดังนั้น ประเทศไทยควรเร่งพัฒนาการขนส่งหลายรูปแบบ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในโซ่อุปทาน การส่งเสริมการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน การพัฒนาคุณภาพและศักยภาพบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และการพัฒนาคุณภาพการบริการโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าในอนาคตไทยจะสามารถยกระดับความสามารถในด้านโลจิสติกส์ขึ้นได้

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วนเพื่อช่วยให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการประยุกต์ใช้ระบบดิจิทัลในการจัดการด้าน โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน สามารถเพิ่มขีดความสามารถของสถานประกอบการได้ โดยปัจจุบันมีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงของฐานข้อมูลและการสื่อสารระหว่างองค์กรตลอดโซ่อุปทาน ก่อให้เกิดการลดต้นทุนโลจิสติกส์ อีกทั้งยังนำผลไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ สำนักโลจิสติกส์ กรมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้จัดงาน Industrial Supply Chain Logistics Conference 2015 ระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน 2558 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการพัฒนาประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรมในปี 2558 และกระตุ้นให้ภาครัฐ และภาคเอกชนเห็นความสำคัญของการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยภายในงานมีการสัมมนาซึ่งได้รับเกียรติจากหม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Driving Economy with Logistics Synchronization and Integration”