วัฒนธรรมเมกเกอร์ (Maker Culture) มีรากฐานมาจากวัฒนธรรม DIY (Do It Yourself) ที่ผู้คนชอบประดิษฐ์หรือซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งมีมานานแล้ว ต่อมาเมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นประกอบกับการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น อาทิ โปรแกรมโอเพ่นซอร์ส ที่ใครๆ ก็สามารถใช้ได้ฟรี กล้องโดรน หรือเครื่องพิมพ์สามมิติที่มีราคาถูกลง จึงเกิดการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพื่อสร้างสรรค์หรือประกอบกับสิ่งประดิษฐ์กันอย่างแพร่หลาย ทำให้รูปแบบของงานประดิษฐ์มีความหลากหลายยิ่งขึ้น นอกจากนั้นด้วยอินเตอร์เนตทำให้ผู้ที่มีความสนใจในการประดิษฐ์สามารถค้นหาและรวมตัวกันได้ง่ายขึ้น เกิดการทำกิจกรรมร่วมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งช่วยผลักดันให้ขบวนการเมกเกอร์เกิดขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “เมกเกอร์คือผู้ที่ชอบสร้างสรรค์หรือดัดแปลงสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้ได้ดังใจ เมกเกอร์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิศวกรหรือผู้ที่มีความรู้ในเทคโนโลยีชั้นสูงเท่านั้น โดยงานประดิษฐ์ในขบวนการเมกเกอร์จึงมีหลากหลายตั้งแต่งานไฮเทค เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ กล้องโดรน ไปจนถึงงานที่ใช้พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ หรือโลหะ รวมถึงผ้า กระดาษ เซรามิกส์ ไม้ หรือแม้แต่อาหาร ต่างก็รวมอยู่ด้วยทั้งสิ้น ขอเพียงแค่ให้มีความแปลกใหม่และการสร้างสรรค์ไอเดียต่างๆ ผิดแปลกจากคนอื่น”
การเป็นเมกเกอร์ไม่ใช่เพียงแค่งานอดิเรก ผลงานของเมกเกอร์สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน ซึ่งการผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากแบบเดิมๆ ทำไม่ได้ โดยรายงานเกี่ยวกับผลที่ขบวนการเมกเกอร์มีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจัดทำโดยบริษัทMaker Media ร่วมกับ Deloitte ระบุว่าในปี 2013 มีสินค้าจากเมกเกอร์ที่ซื้อขายกันในร้านค้ามากกว่า 1 ล้านแห่ง รวมมูลค่าสูงถึง 1.35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังเพราะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตที่กำลังเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นยุคที่ต้องการผู้ที่มีความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมเมกเกอร์ที่แข็งแรงจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”
ดร.กฤษฎ์ชัย กล่าวต่อไปว่า “จุดเด่นของวัฒนธรรมเมกเกอร์ประการหนึ่งคือเรื่องของการแบ่งปันความรู้และการร่วมมือกัน เมกเกอร์จะมีความสุขที่ได้พบเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และช่วยเหลือกัน ไปจนถึงการสอนผู้ที่สนใจอยากเป็นเมกเกอร์ เมกเกอร์แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป การแบ่งปันความรู้ทำให้เมกเกอร์สามารถพัฒนาผลงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนทำให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลงานชิ้นใหม่หรือปรับปรุงผลงานอีกด้วย การเกิดขึ้นของ “เมกเกอร์สเปซ” (Maker Space) หรือพื้นที่ทำงานร่วมกันของเมกเกอร์ ตลอดจนการจัดงานต่างๆ เพื่อให้เมกเกอร์ได้มาพบปะกัน อาทิงาน เมกเกอร์ แฟร์ (Maker Faire) ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการแบ่งปันนี้ ส่งผลให้สังคมของเมกเกอร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว”
คุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ ผู้ร่วมก่อตั้ง Maker Zoo เมกเกอร์สเปซชื่อดัง อธิบายถึงนิยามของเมกเกอร์สเปซว่า “ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานอาทิ เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องมือสำหรับทำวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จะมีราคาถูกลง แต่ก็ยังมีราคาสูงเกินกว่าที่เมกเกอร์ทุกคนจะมีไว้ครอบครอง เมกเกอร์สเปซจึงเกิดขึ้นเพื่อให้บริการอุปกรณ์และสถานที่สำหรับเมกเกอร์และผู้สนใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการใช้เครื่องมือไปจนถึงการพัฒนาผลงาน โดยในประเทศไทยมีเมกเกอร์สเปซ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด”
คุณภัทรพร กล่าวต่อไปว่า “อย่างไรก็ดีหัวใจของเมกเกอร์สเปซไม่ใช่ความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ แต่คือ‘การเป็นพื้นที่ในการทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน’ โดยเมกเกอร์สเปซจะเป็นสถานที่รวมตัวของคนที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญที่หลากหลาย รวมถึงผู้ที่เริ่มต้นที่ยังใช้เครื่องมือไม่เป็น ให้ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนางานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น และสามารถนำไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาผลงานขึ้นเป็นธุรกิจผ่านการระดมทุนจากมวลชน (crowdfunding) นอกจากนั้น เมกเกอร์สเปซยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยชุมชนเมกเกอร์กำลังร่วมกับเชฟรอนและ สวทช. เพื่อจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้นเป็นครั้งแรก ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้”Bangkok Mini Maker Faire จุดประกายนักสร้างสรรค์
“เมกเกอร์ แฟร์” หรืองานแสดงผลงานของเหล่าเมกเกอร์ ถือกำเนิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาก่อนที่จะขยายออกไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ถึงกับให้จัดงานเมกเกอร์แฟร์ในทำเนียบขาวเป็นครั้งแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเมกเกอร์ที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดี จึงน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พร้อมด้วยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จะร่วมกันจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 26 – 27 กันยายนที่จะถึงนี้ ณ ลานหน้าฮาร์ดร็อค สยามสแควร์ ซอย 11 เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทย ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาสนใจและเป็นเมกเกอร์กันมากขึ้น
คุณไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เผยถึงจุดประสงค์ของการจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ว่า “การจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” โครงการระยะยาว 5 ปี ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาการส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) หรือสะเต็ม (STEM) ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในสังคมทั้งเยาวชน ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัว เกิดความสนใจในการศึกษาในสาขาสะเต็ม เพิ่มมากขึ้น ด้วยงบประมาณกว่า 900 ล้านบาท”
คุณไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า “เชฟรอนประเทศไทยเล็งเห็นว่า วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เมกเกอร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต เราจึงอยากส่งเสริมให้วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเราต้องการทลายกรอบความคิดเดิมๆ ที่ว่านักประดิษฐ์จะต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมหรือเทคโนโลยีที่ซับซ้อน เพราะเราทุกคนสามารถเป็นเมกเกอร์ได้ ขอเพียงแค่มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แล้วลงมือสร้างผลงานออกมา และด้วยจำนวนของเมกเกอร์สเปซที่เพิ่มมากขึ้นตลอดจนวัฒนธรรมเมกเกอร์ที่เน้นการแบ่งปันความรู้ ที่พร้อมจะสนับสนุนและช่วยเหลือเมกเกอร์หน้าใหม่ การเป็นเมกเกอร์จึงไม่ใช่เรื่องยากหรือไกลเกินฝันอีกต่อไป”
นอกจากการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ของเมกเกอร์จากประเทศไทย และผลงานที่โดดเด่นจากต่างประเทศแล้ว งาน Bangkok Mini Maker Faire ยังจะจัดแสดงผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากการประกวดไอเดียการออกแบบจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ “Enjoy Science: Let’s Print the World” พร้อมประกาศผลผู้ชนะเลิศ ทั้งในระดับเยาวชนและบุคคลทั่วไปซึ่งจะได้รับตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พัก เพื่อเข้าร่วมงาน Maker Faire ที่ประเทศเยอรมนี ต่อไป
สามารถดูรายละเอียดและติดตามความคืบหน้าของงาน Bangkok Mini Maker Faire ได้ที่ เฟซบุ๊ค Enjoy Science: Let’s Print the World
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit