สถาบันอาหาร ชี้ลงทุนผลิตอาหารแปรรูปในสปป.ลาว เน้นส่งออกเพื่อสิทธิทางภาษี

18 Aug 2015
สถาบันอาหาร เผยผู้บริโภคชาวลาวมีจำนวนน้อยและไม่นิยมอาหารแปรรูป แนะลงทุนในสปป.ลาว ต้องใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูปผสานเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ เน้นผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่สปป.ลาวได้สิทธิประโยชน์เป็นหลัก ชี้หากลงทุนตั้งบริษัทขนส่งสินค้าในสปป.ลาวเพื่อส่งออกไปเวียดนามและจีนตอนใต้จะเป็นผลดีกับสินค้าผักและผลไม้ของไทย

ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร ได้เผยแพร่ผลการศึกษาความต้องการของตลาด ศักยภาพและช่องทางจัดจาหน่ายสินค้าอาหารแปรรูปของไทยใน สปป. ลาว จากกลุ่มตัวอย่างในเขตเวียงจันทร์ สะหวันนะเขต หลวงพระบาง และแขวงคาม่วน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นผู้มีอายุระหว่าง 19 - 32 ปี ร้อยละ 43 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-อนุปริญญา ร้อยละ 40.5 มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และมีรายได้ระหว่าง 10,000– 20,000 บาท ต่อเดือนร้อยละ 40.5 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ร้อยละ 35.5 เป็นนักเรียน นักศึกษา รองลงมา คือรับราชการ

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านมากถึงร้อยละ 97.0 โดยนิยมปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ มีเพียงร้อยละ 3 ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่ไม่เคยปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้าน โดยนิยมซื้อวัตถุดิบเนื้อสัตว์ ปลา ผักสดเป็นประจำทุกวัน ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการซื้ออาหารจำนวนครั้งละน้อยๆ และรับประทานให้หมดในคราวเดียว และร้อยละ 57.0 ไม่เคยใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหาร ส่วนอีกร้อยละ 57.5 ไม่เคยใช้บริการสั่งอาหารแบบดิลิเวอรี่มารับประทาน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.5 ที่เคยใช้บริการสั่งอาหารแบบดิลิเวอรี่มารับประทานนั้น ระดับความถี่ของการสั่ง คือ มากกว่า 1 เดือนต่อครั้ง

สำหรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูป ความถี่ในการรับประทานบะหมี่/ก๋วยเตี๋ยวกึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปแช่เย็น/แช่แข็ง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนอาหารแปรรูปกระป๋องมีความถี่ในการรับประทาน 1-2 ครั้งเดือนมากที่สุด ส่วนอาหารแปรรูป กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 80 เลือกบริโภคอาหารแปรรูปได้แก่ ขนมขบเคี้ยวประเภทถั่วและธัญพืช ขนมปังกรอบ ในระดับความถี่ 1-2 ครั้งต่อเดือน ส่วน ขนมหวานจำพวกวุ้น เยลลี่ หมูยอ กุนเชียง หมูหยอง แหนม และ ผักผลไม้แปรรูป: ดอง แช่อิ่ม อบแห้ง บริโภคในระดับความถี่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับเครื่องดื่ม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 90 เลือกบริโภคเครื่องดื่มสำเร็จรูปได้แก่ เครื่องดื่มจำพวกน้ำผลไม้พร้อมดื่ม ชา กาแฟ น้ำปั่น นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว โยเกิร์ต โดยมีความถี่ในการบริโภค 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เท่ากันทุกชนิด ขณะที่เครื่องดื่ม low calories/sugar free และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์:ไวน์ เหล้า เบียร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกบริโภคในอัตราร้อยละ 83 และ 90 ตามลำดับ และมีความถี่ในการบริโภค 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์เท่ากัน

อย่างไรก็ตามการลงทุนผลิตและการตลาดใน สสป. ลาว ปัจจุบันอาหารแปรรูปหลายกลุ่มไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวลาว ดังนั้นกลุ่มลูกค้าจะเหลือเพียงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานหรือทำธุรกิจใน สปป.ลาว และชาวลาวบางส่วนเท่านั้น ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศ มีความคุ้นเคยกับการบริโภคอาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งกลุ่มคนมีฐานะดีที่ต้องการใช้ชีวิตตามแบบสมัยใหม่ เป็นต้น แม้ว่าภาครัฐของสปป.ลาวจะส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจอาหารแปรรูปและสินค้าเกษตรแปรรูป

ดังนั้นกลยุทธ์สำคัญหากต้องการเข้าไปลงทุน คือการนำเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการเข้ามาทำการผลิตในสปป.ลาว และใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูป โดยเน้นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่สปป.ลาวได้สิทธิประโยชน์เป็นหลัก เพราะตลาดในประเทศ สปป. ลาวยังมีขนาดเล็กเกินไป โดยการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในท้องถิ่น เนื่องจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ ได้เป็นอย่างดี อาทิ เรื่องต้นทุนที่ดินเพื่อปลูกสร้างโรงงานและสถานที่ที่ใช้ในการประกอบการ ตลอดจนการติดต่อประสานงานในการดำเนินการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ในการเลือกพื้นที่ในการลงทุน เนื่องจากแต่ละพื้นที่หรือแต่ละแขวงของสปป.ลาวมีลักษณะพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์ไม่เหมือนกัน ดังนั้นสำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและสินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งต้องอาศัยวัตถุดิบทางการเกษตรและปศุสัตว์เพื่อนำมาแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อจาหน่ายต่อไปนั้น ผู้ประกอบ การควรเลือกพื้นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปให้อยู่ในพื้นที่หรือใกล้กับพื้นที่เพาะปลูกวัตถุดิบทางการเกษตรหรือพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งวัตถุดิบมายังโรงงานแปรรูป ซึ่งแขวงที่มีพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกในสปป.ลาว เช่น แขวงสะหวันนะเขต จัดเป็นแขวงที่เน้นด้านเกษตรอุตสาหกรรม เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และแขวงนี้เป็นแขวงที่มีพื้นที่มากที่สุดในสปป.ลาว จึงส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนด้านการเกษตรมากเป็นพิเศษ แขวงจำปาสัก โดยเฉพาะทางตอนใต้ เหมาะแก่การปลูกพืชเมืองหนาว อาทิ กาแฟ และชา เป็นต้น

อีกประเด็นที่ควรพิจารณาคือ แนวนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับค่าแรงของแรงงานชาวลาว ซึ่งรัฐบาลกำลังปรับระบบการพิจารณาอัตราค่าแรง โดยล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน (The decree on labour skill development) กำหนดให้มีการจัดประเภทและรับรองทักษะการทำงานของแรงงาน และแรงงานจะได้รับค่าแรงที่สอดคล้องกับวุฒิการศึกษา ทักษะ และประสบการณ์การทำงานของตนส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในสปป.ลาวในอนาคต ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ อีกธุรกิจที่น่าสนใจนอกจากด้านการแปรรูปอาหาร คือ นักลงทุนไทยสามารถไปตั้งบริษัทในสปป.ลาวเพื่อขนส่งสินค้าไปเวียดนามและจีน หรือร่วมทุนกับนักธุรกิจเวียดนามเพื่อขนส่งสินค้าไปป้อนตลาดสปป. ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ได้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากรถขนสินค้าจากสปป.ลาวสามารถขนสินค้าไปได้ทั่วทั้งชายแดนไทย เวียดนาม และจีน ต่างจากรถขนส่งจากไทยที่ไปได้ถึงบริเวณชายแดนสปป.ลาวเท่านั้น รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนภาษีนำเข้าสินค้าที่ส่งไปขายที่จีนตอนใต้ได้ด้วย เพราะหากเป็นการส่งจากสปป.ลาวจะเสียภาษีเพียง 3-5% เท่านั้น แต่ถ้าส่งไปจากไทยจะเสียภาษีสูงถึง 10% ซึ่งจุดนี้จะส่งผลดีต่อการส่งออกผักและผลไม้ของไทยไปยังจีนตอนใต้

สำหรับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยนั้น ผู้บริโภคชาวลาวให้การยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์สวยงาม มีคุณภาพสูง รวมถึงราคาและปริมาณมีความคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม ประเทศคู่แข่งที่มีภาพลักษณ์ดีอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็เข้าสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีจีนและเวียดนามที่สินค้ามีราคาต่ำกว่าของไทย ดังนั้นหากผู้ประกอบการจะเน้นการส่งออก ก็ควรต้องเริ่มให้ความสนใจในการทำตลาดอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อไม่ให้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่เคยครองอยู่ไป