วัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียตัวแรกของโลก โดย GSK ได้รับการอนุมัติจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป

19 Aug 2015
องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปให้การรับรองวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียของ GSK นับเป็นวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียตัวแรกของโลก เพื่อช่วยป้องกันโรคมาลาเรีย สำหรับเด็กเล็กในแอฟริกาตอนใต้ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียสูง

เซอร์ แอนดรูว์ วิตตี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น หรือ GSK เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ยาสำหรับมนุษย์ (CHMP) ขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ได้ให้การรับรองวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียของ GSK ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการอนุมัติใช้วัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียตัวแรกของโลก

โดยวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียของ GSK เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียที่มีความก้าวหน้าที่สุดของโลก เริ่มคิดค้นขึ้นในปี พ.ศ.2530 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของ GSK ทั้งนี้ การพัฒนาในช่วงแรกนั้นได้รับความร่วมมือจาก Walter Reed Army Institute for Research ในปี 2544 GSK และ PATH ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนการกุศลบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ฟาวน์เดชัน ได้ทำความตกลงร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันมาลาเรียสำหรับเด็กเล็กที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่มีการระบาดของโรคมาลาเรียในแอฟริกาตอนใต้ โดย GSK ได้ลงทุนไปกว่า 365 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะลงทุนเพิ่มอีก 200-250 ล้านเหรียญสหรัฐ จนกว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนนี้ได้เป็นผลสำเร็จ ขณะที่กองทุนการกุศลบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ฟาวน์เดชันได้ร่วมสมทบทุนกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว

GSK มีความมุ่งมั่นที่จะไม่แสวงหาผลกำไรจากวัคซีนป้องกันมาลาเรีย และพร้อมลงทุนในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันมาลาเรียระยะที่ 2 รวมทั้งวัคซีนสำหรับป้องกันโรคเขตร้อนอื่น ๆ ต่อไป นับเป็นอีก 1 โครงการที่ยืนยันถึงการดำเนินตามนโยบาย “ยาดีเข้าถึงได้” อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียของ GSK ต่างจากวัคซีนตัวอื่น ๆ ที่สร้างมาเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่วัคซีนของ GSK เป็นวัคซีนที่พัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันโรคมาลาเรียที่เกิดจากปรสิต Plasmodium falciparum ซึ่งพบได้บ่อยในแอฟริกาตอนใต้ ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียประมาณ 584,000 ราย โดยร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตอยู่ในแถบแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า และร้อยละ 83 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

ในการรับรองของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ยาสำหรับมนุษย์ในครั้งนี้ คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ยาสำหรับมนุษย์ได้ประเมินผลบวกในด้านของความปลอดภัย ประสิทธิภาพและคุณภาพของวัคซีน จากการพิจารณาผลการทดลองทางการแพทย์ในระยะที่ 3 ที่ได้มีการให้วัคซีนในเด็กเล็กกว่า 16,000 คนของศูนย์วิจัย 13 แห่งใน 8 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ บูร์กินาฟาโซ กาบอง กานา เคนยา มาลาวี โมซัมบิก ไนจีเรีย และแทนซาเนีย โดยผลการทดลองทางการแพทย์ของศูนย์วิจัยดังกล่าว พบว่าใน 18 เดือนแรก หลังจากที่เด็กได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียของ GSK 3 ครั้งห่างกัน 1 เดือนส่งผลให้จำนวนผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียลดลง โดยลดลงเกือบร้อยละ 50% ในเด็กที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุ 5-17 เดือน และลดลงร้อยละ 27 ในเด็กที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกเมื่อเป็นทารกอายุ 6-12 สัปดาห์ และเมื่อสิ้นสุดโครงการ พบว่า การฉีดวัคซีนจำนวน 4 ครั้งโดยให้วัคซีนครั้งที่ 4 ในเดือนที่ 18 หลังจากได้วัคซีนครบ 3 ครั้ง ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อมาลาเรียลดลง โดยลดลงร้อยละ 39 ในเด็กเล็กที่มีการติดตามต่อเป็นเวลา 4 ปี และลดลงร้อยละ 27 ในเด็กทารกที่มีการติดตามนาน 3 ปี และสำหรับพื้นที่ที่มีการติดเชื้อมาลาเรียสูงสุด พบว่าในระยะที่ทำการศึกษา วัคซีนนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อมาลาเรียได้กว่า 6,000 ราย ต่อการให้วัคซีนในเด็กเล็ก 1,000 คน

"การรับรองวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียของ GSK ดังกล่าวนับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงวัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียตัวแรกของโลกนี้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันเชื้อมาลาเรียของ GSK เพียงลำพังอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการป้องกันมาลาเรีย หากแต่การใช้ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันอื่น ๆ ที่หาได้ง่าย อาทิ มุ้งกันยุงและยาฆ่าแมลง จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการป้องกัน และควบคุมผลกระทบของเชื้อมาลาเรียในเด็กที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด และ GSK จะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ แต่จะสานต่อในส่วนของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและการรักษาอื่น ๆ เกี่ยวกับมาลาเรียเพื่อการค้นพบวิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู่กับโรคร้ายนี้ให้สำเร็จให้ได้" เซอร์ แอนดรูว์ วิตตี้ กล่าวย้ำ