มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมอนามัย องค์การยูนิเซฟ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การ Alive & Thrive จัดงานเฉลิมฉลองสัปดาห์นมแม่โลก ปี 2558 ในประเทศไทยขึ้น ภายใต้คำขวัญ ภาคีร่วมใจช่วยแม่ไทยให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป พระราม 9 กรุงเทพฯ ซึ่งมีภาคีเครือข่าย และบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมเกือบ 100 บริษัท
ดร.วิภาวี ศรีเพียร ผอ.กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวในเวทีเสวนาว่า ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน กองสวัสดิการแรงงานส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการจัดทำ “มุมนมแม่” ได้ถึง 1,130 แห่ง มีลูกจ้างใช้บริการ 8,876 คน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของลูกจ้างได้ถึง 213 ล้านบาทเศษ โดยในปี 2558 นี้มีบริษัทขอเข้าร่วมโครงการ 114 บริษัท เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้“ขั้นตอนการทำนั้นไม่ยาก คือ นายจ้างต้องทำนโยบายขึ้นมาแล้วติดประกาศให้ลูกจ้างได้ทราบว่านายจ้างให้ความสำคัญในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประกาศนโยบายตรงนี้เสร็จก็ประชาสัมพันธ์ให้รู้ มีการจัดสถานที่มิดชิดให้ลูกจ้างได้สามารถมีมุมนมแม่ที่ไปนั่งให้นม ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเอาลูกมาเลี้ยงที่ทำงาน อาจจะบีบเก็บนมแม่ใส่ขวดแล้วไปแช่ตู้เย็น โดยบริษัทจัดหาตู้เย็นไว้ให้ จัดโต๊ะ จัดผ้าเช็ดมือ จัดห้องน้ำที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่ต้องอาศัยผู้ประกอบการให้ความสำคัญตรงส่วนนี้”
น.ส.นภัทร พิศาลบุตร เจ้าหน้าที่สื่อสารเพื่อการพัฒนา องค์การยูนิเซฟ กล่าวถึงการออกนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบริษัทเอกชนในต่างประเทศว่ามีการสำรวจถึงผลดีและเสียที่บริษัทจะได้รับ ซึ่งผลสำรวจระบุว่าบริษัททั่วโลกต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับสมัครและฝึกอบรมพนักงานใหม่เป็นจำนวนเงินสูงถึง 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี แต่ถ้าทุกบริษัทมีนโยบายให้พนักงานลาคลอดเพื่อให้ลูกกินนมแม่ได้อย่างเต็มที่และจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนเป็นเวลา 16 สัปดาห์ จะเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพียง 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นในแต่ละปีบริษัทเอกชนทั่วโลกจะประหยัดงบประมาณได้ถึง 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับสมัครและฝึกอบรมพนักงานใหม่ เป็นการรักษาพนักงานเดิมที่มีประสบการณ์และคุณภาพให้คงอยู่กับบริษัท ทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท ซึ่งได้ประโยชน์ทุกทาง จึงเป็นเหตุผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ภาคเอกชนในประเทศสหรัฐอเมริกาออกนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจัง
“บริษัทชั้นนำระดับโลก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างเช่น บริษัท Google ที่ออกนโยบายให้ลาคลอดได้ทั้งพ่อและแม่ โดยให้แม่ลาได้ 18 สัปดาห์ พ่อลาได้ 7 สัปดาห์ และยังจ่ายเงินเดือนเต็มให้ทั้งพ่อและแม่ ซึ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่บริษัทต่างๆ ก็เห็นความสำคัญในการลาคลอดโดยให้ได้รับเงินเดือนเต็ม โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำเขาเห็นว่านี่เป็นนโยบายที่จะทำให้เขาได้คนทำงานที่เป็นคนรุ่นใหม่คุณภาพดีและสามารถทำงานอยู่กับองค์กรของเขาได้ ถึงแม้ว่า กฎหมายไม่ได้กำหนด แต่เขาก็เต็มใจทำ และทำให้มากกว่าที่กำหนด เพื่อให้ได้คนที่มีคุณภาพที่อยากจะมาทำงานกับบริษัท
ที่น่าสนใจมากอีกแห่งคือ บริษัทโวลเดอร์โฟนซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับโทรศัพท์ ที่มีนโยบายให้แม่ที่ลาคลอดครบ 6 เดือนกลับมาทำงานได้ทำงานน้อยลง อนุญาตให้ทำงานเพียง 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยยังได้รับเงินเดือนเต็ม เพราะเขาคิดว่าแม่ควรจะได้พัก อาจจะเป็นพักช่วงระหว่างวัน หรือมาทำงานช้าหน่อย กลับเร็วหน่อย เพราะเขาเห็นว่าตรงนี้จะสามารถเอื้อให้พนักงานของเขาไปดูแลลูกได้ ซึ่ง 30 บริษัทเครือข่ายของเขาทั่วโลกก็ใช้นโยบายเดียวกันนี้ทั้งหมด และอีกบริษัทหนึ่งคือ บริษัท IBM ซึ่งมีพนักงานไปทำงานนอกออฟฟิศเป็นจำนวนมาก บางทีอยู่ต่างเมือง บริษัทก็รับส่งนมแม่กลับมาให้ฟรี โดยจ่ายค่า shipping ต่างๆ ให้ทั้งหมด”
ข้อมูลเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียน แม่กว่า 95% ในประเทศเวียดนามยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และในปี 2012 ได้เปลี่ยนกฎหมายลาคลอดจากเดิม 120 วันหรือ 4 เดือน เพิ่มเป็น 180 วัน โดยได้รับเงินเดือนเต็ม และให้พ่อลาได้ 5 วันหลังจากที่ลูกเกิดมา ถ้าเป็นลูกแฝดพ่อสามารถลาได้ 10 วัน ส่วนประเทศกัมพูชา จากสิบปีก่อนที่แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 17% สามารถก้าวกระโดดมาเป็น 60-70% เพราะทำพร้อมกันทั้งเรื่อง support, protect, promotion โดย support แม่ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาล ให้คำแนะนำที่ดีสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ แล้ว promote ให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับนมแม่ ส่วนที่สามคือการ protect คือการผลักดันกฎหมายที่จะให้มีการควบคุมไม่ให้มีการส่งเสริมนมผงเข้ามามีวิธีขัดขวางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น เอาไปแจกในโรงพยาบาล ซึ่งมีงานวิจัยที่ระบุว่าเมื่อแม่ได้รับแจกนมผงจากโรงพยาบาลมา พอกลับบ้านแล้วเกิดปัญหาก็จะใช้นมผงนั้นเลย ซึ่งมีส่วนในการลดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากมีผลกระทบต่อตัวเด็กแล้ว ในระยะยาวคุณแม่คนนั้นยังต้องแบกรับภาระในการซื้อนมผงต่อไปด้วยสำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้สิทธิ์แม่ลาคลอดได้ 90 วัน โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนให้เป็นเวลา 45 วัน และกฎหมายประกันสังคมจ่ายให้ครึ่งหนึ่งของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน ส่วนพ่อสามารถลาได้ 15 วันเฉพาะข้าราชการเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างที่ตั้งครรภ์ โดยห้ามนายจ้างอ้างเหตุว่าตั้งครรภ์แล้วเลิกจ้าง แต่ลูกจ้างมีสิทธิ์ขอออกเองได้ และในระหว่างตั้งครรภ์ลูกจ้างมีสิทธิ์ขอเปลี่ยนหน้าที่งานได้ หากว่างานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่นั้นมีความเสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อบุตรในท้อง
บริษัท หรือหน่วยงานใดที่สนใจจัดทำ “มุมนมแม่” ขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนมแม่ในสถานประกอบกิจการได้ที่ www.thaibreastfeeding.org หรือโทรศัพท์ 02-354-8444 ต่อ 23
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit