ดีแทคมุ่งสู่การเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 1800MHz และ 900MHz เพื่อปลดล็อคศักยภาพทางด้านโทรคมนาคมของประเทศ ที่จะนำทรัพยากรคลื่นความถี่และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมมาพัฒนาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่โดยการให้เข้าถึง (Access) เชื่อมต่อ (Connectivity) และทำให้เกิดการส่งเสริมสู่มาตรฐาน การบริการ กระตุ้นให้ระบบนิเวศด้านโทรคมนาคมมีการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการกำหนดเป้าหมายให้คนไทยร้อยละ80 มีการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน(Active Internet Users) ภายในปี พ.ศ. 2560 ที่สำคัญยังเป็นการตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล (Digital Economy) ที่ต้องผลักดันให้มีพื้นที่บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือได้ครอบคลุมมากที่สุด
“สำหรับการคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานจำนวน 4.8 MHz เพื่อนำไปประมูลคลื่น 1800MHz ขณะนี้ดีแทคอยู่ระหว่างรอขั้นตอน ดังนี้ 1. กระบวนการทางกฎหมายรองรับจากภาครัฐทั้ง กสทช. และ กสท โทรคมนาคม ในการเดินหน้าอนุมัติการย้ายคลื่นและเรื่องสัญญาสัมปทานมาเป็นทางการ โดยขณะนี้ดีแทคยังไม่ได้รับหนังสืออนุมัติอย่างเป็นทางการเพื่อให้ดำเนินการ 2. กระบวนการทางเทคนิคในการที่บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ย้ายลูกค้าที่ยังเหลืออยู่บนคลื่นที่หมดสัมปทานเพื่อให้คลื่นว่าง และดีแทคจะย้ายลูกค้าที่ใช้งานอยู่บนคลื่น 1800MHz ช่วงเดิมมาแทนที่ โดยการรีฟาร์มมิ่งตามที่กล่าวมานั้น ดีแทคจะต้องใช้เวลาในการย้ายพอสมควรและทดสอบอย่างมั่นใจกับระบบเพราะเป็นการโอนย้ายลูกค้าที่อยู่บนคลื่น 1800MHz ทั้งประเทศไทย” นายลาร์ส กล่าว
ทั้งนี้ ดีแทคยังสนับสนุนให้ภาครัฐจัดทำแผนงานคลื่นความถี่ (Roadmap) ในการประมูลและกำหนดเวลาที่จะนำคลื่นความถี่มาประมูลในอนาคตไว้อย่างแน่นอน เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการบริหารคลื่นความถี่และประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย ดังนั้นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะสามารถวางแผนบริหารคลื่นความถี่ได้ล่วงหน้า ทุกฝ่ายจะสามารถนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคำนวณการออกแบบโทรคมนาคมให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศที่เติบโตมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาที่มีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง (mobile broadband) มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด พร้อมกับรัฐบาลมีนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้อุตสาหกรรมมีความต้องการใช้คลื่นความถี่ ในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในการเข้าถึงการใช้งานแบบไร้สายทุกประเภท ดังนั้น ท่าทีของรัฐในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการคลื่นความถี่ จึงควรเป็นการส่งเสริมให้มีคลื่นความถี่ในตลาดอย่างเพียงพอต่อการให้บริการ และเข้ามากำกับดูแลแทรกแซงเฉพาะในกรณีที่มีการถือคลื่นความถี่โดยผูกขาดหรือกีดกันเท่านั้น” นายลาร์ส กล่าวในที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit