ดังนั้น การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง Fishing Info เพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการดำเนินการตรวจสอบ ควบคุม กำกับดูแลการทำประมง IUU เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้ด้วยการทำงานในระบบเดียว ทุกฝ่ายสามารถใช้ในการตรวจสอบการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนายนายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบฐานข้อมูล Fishing Info เป็นฐานข้อมูลกลางในการรวบรวมข้อมูลเรือประมง ใบอนุญาตทำการประมง และแรงงานประมง โดย 7หน่วยงานภายใต้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้แก่ กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมเจ้าท่า กรมการปกครอง กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมประมง จะสามารถตรวจสอบข้อมูลที่จำเป็นในการปฏิบัติงานเพื่อควบคุม กำกับ ดูแล ป้องกันยับยั้งการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในการตรวจเรือเข้า-ออกท่าเทียบเรือ และการบูรณาการตรวจร่วมเรือและแรงงานประมงในการตรวจของเรือตรวจการณ์ในทะเล
สำหรับข้อมูลในระบบ Fishing Info สามารถใช้งานได้ในทุกพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ทั้ง 7 หน่วยงาน ซึ่งสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้แบบ Real time ผ่าน Desktop PC และ โทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบ Android และ IOS โดยข้อมูลในระบบ จะประกอบไปด้วย ข้อมูลทะเบียนเรือ ขนาดเรือ ขนาดเครื่องยนต์ เจ้าของเรือ พร้อมภาพถ่ายเรือ ข้อมูลใบอนุญาตใช้เรือประจำปี ข้อมูลการได้รับอนุญาตทำการประมง ชื่อผู้ขออนุญาตใช้เครื่องมือ ประเภทเครื่องมือพร้อมภาพถ่ายเครื่องมือประมง ข้อมูลการติดตั้งเครื่องมือติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System : VMS) ข้อมูลแรงงาน และภาพถ่าย ข้อมูลการตรวจเรือ
ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมประมงได้มีการเชื่อมโยงระบบไปยัง ศปมผ. และ ศูนย์ควบคุมเรือประมงเข้า – ออกท่า 28 ศูนย์ ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งสามารถช่วยในการปฏิบัติการตรวจร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายเกิดประสิทธิผล
นายปีติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)IUU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความคืบหน้า ดังนี้
1. ด้านกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง พ.ร.บ. การประมง 2558 โดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขปัญหาการประมงไอยูยูเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการทำการประมงของประเทศ
2.. การจัดทำนโยบายต่าง ๆ และแผนการดำเนินการของประเทศ ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปกว่า 90 % ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติในการป้องกัน ขจัด และยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPAO - IUU) ที่มีสาระครอบคลุมถึงการดำเนินการตามมาตรการที่ไทยเป็นรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐท่าเรือ และรัฐตลาด
การจัดทำนโยบายหรือแผนการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล ( FMP) โดยได้เน้นการบริหารทรัพยากรประมงอย่างเหมาะสม ทั้งการกำหนดจำนวนเรือที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่มสัตว์น้ำสำคัญ กำหนดมาตรการเพื่อลดการทำประมง IUU ทั้งสำหรับเรือประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ มาตรการลดความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ มาตรการลดการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนของปลาเศรษฐกิจ มาตรการฟื้นฟูและรักษาแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ ทั้งได้กำหนดแผนการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการประมง การควบคุมเฝ้าระวังการทำประมง เป็นการป้องกันการทำประมง IUU ผู้ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมงและหน่วยงานเฉพาะที่ต้องรับผิดชอบในการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ การจัดทำแผนควบคุมและตรวจสอบการทำประมง ซึ่งได้ครอบคลุมถึง การเฝ้าระวังก่อนการออกทำการประมง การตรวจตราเรือประมงระหว่างการทำการประมง และการเฝ้าระวังเรือประมงที่ท่าเทียบเรือ การเฝ้าระวังก่อนการออกทำการประมง เรือประมงทุกลำทั้งเรือประมงที่ทำการประมงในน่านน้ำไทย น่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน และน่านน้ำสากล ต้องได้รับอนุญาตทำการประมงตามพื้นที่ที่ทำการประมงอย่างถูกต้อง
ขณะที่การดำเนินการด้านระบบการตรวจสอบย้อนกลับ จากที่ได้มีการปรับปรุง พ.ร.บ. การประมงให้ครอบคลุมการจัดทำระบบ Traceability ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่การจับ การนำเข้า การขนถ่าย การแปรรูปในโรงงาน และการส่งออกเพื่อให้สามารถทวนสอบย้อนกลับสินค้าประมงไปยังแหล่งจับได้ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำคู่มือการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Port State Measure ของด่านนำเข้า Port – in & Port – out ของเรือประมงภายในประเทศ การตรวจประเมิน ระบบ Traceability ของโรงงาน และการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำและใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ ตลอดจนการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้ถูกต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ซึ่งจากมาตรการต่างๆ ข้างต้นขณะนี้ผลการดำเนินในด้านการปฏิบัติงานมีความคืบหน้าในหลายๆ ส่วน ทั้งการควบคุม บริหารจัดการจำนวนเรือและเครื่องมือประมง ให้เหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำที่มีอยู่ โดยการเร่งรัดให้มีการขึ้นทะเบียนและขออนุญาตใช้เรือประมง เครื่องมือทำการประมง และใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน/พฤษภาคม ที่ผ่านมาปัจจุบันมีเรือประมงขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5,318 ลำ จากเรือที่อยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินการประมาณ 6,000 ลำ
การกำหนดมาตรการติดตาม การควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง (Monitoring Control and Surveillance : MCS) มีการจัดทำแผนการร่วมบูรณาการตรวจร่วมระหว่างกองทัพเรือ (ศรชล.) กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมประมง เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถตรวจสอบ เฝ้าระวังการทำผิดด้านการประมงได้ครอบคลุมพื้นที่ตลอดฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมากคาดว่าจะจัดทำแผนได้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2558
การติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) เพื่อให้สามารถตรวจสอบ ติดตาม และยืนยันแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่จับได้อย่างถูกต้อง โดยกำหนดให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวในเรือขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปและจะเริ่มมีการตรวจสอบในช่วงเดือนกรกฎาคม กันยายน และตุลาคม ตามขนาดและพื้นที่เป้าหมายปลายทางที่ทำการประมงของเรือแต่ละประเภทต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีเรือประมงดำเนินการติดตั้ง VMS แล้ว ประมาณ 1,586 ลำ จากเรือที่ต้องดำเนินการ ประมาณ 6,000 ลำ
การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง (Traceability) ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางครอบคลุมการทำการประมงโดยเรือไทยที่ทำการประมงในน่านน้ำไทยและน่านน้ำต่างประเทศ ตลอดจนเรือประมงต่างชาติที่เทียบท่าขนถ่ายสัตว์น้ำในประเทศไทย หรือการนำเข้าสัตว์น้ำเพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเพื่อส่งออก โดยกำหนดให้มีการจัดทำสมุดบันทึกการทำประมง (Fishing logbook) ใบกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document : MCPD) และใบกำกับการขนถ่ายสัตว์น้ำ (Marine Catch Transship Document : MCTD) ตลอดจนหนังสือกำกับการจำหน่ายวัตถุดิบสัตว์น้ำนำเข้า(Imported?Aquatic Animal Raw Material Movement Document : IMD) การตรวจสอบใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) และใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ (Annex IV) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณานำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการออกใบอนุญาตทำการประมง การจัดทำสมุดบันทึกการทำประมง ตลอดจนการออกหนังสือรับรองแหล่งจับสัตว์น้ำด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
พร้อมทั้งยังคงประกาศห้ามทำการประมงโดยเครื่องมือประมง 4 ประเภท ประกอบด้วย โพงพาง อวนรุน (ยกเว้นอวนรุนเคยที่คันรุนไม่ถึงพื้น) อวนล้อมที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ที่ทำการประมงเวลากลางคืน ลอบไอ้โง่ ซึ่งหากพบการกระทำผิดจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนั้นมีการกำหนดให้ขยายขนาดตาอวนก้นถุงเครื่องมือประมงอวนลากเป็น 5 เซนติเมตร โดยให้เวลาปรับปรุงแก้ไขจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 โดยอาจส่งผลกระทบต่อเรือประมงบ้างแต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือประมงเชิงพาณิชย์ สำหรับเรือประมงที่ผิดกฎหมายหรือสำรวจไม่พบจะมีการดำเนินการลบข้อมูลจากระบบ ซึ่งหากตรวจพบเรือดังกล่าวทำการประมงจะถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการ ควบคุมการทำประมง อาทิ การกำหนดเขตการทำประมงร่วมกับมาตรการอื่นๆ เป็นการลดจำนวนเรือและเครื่องมือประมง การกำหนดระยะเวลาการอนุญาตทำประมง ฯลฯ เพิ่มเติม ซึ่งจะมีการพิจารณาทุกปีเพื่อให้จับสัตว์น้ำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดได้อย่างยั่งยืนตามหลักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับของสากล พร้อมกันนั้นรัฐได้พยายามเร่งพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมโดยเร่งด่วนต่อไป” นายปีติพงศ์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit