ดร. เฮเธอร์ จอห์นสโตน ผู้อำนวยการงาน อาเซียน พาวเวอร์ วีค และผู้ดำเนินการเสวนาได้กล่าวว่า "ความต้องการด้านพลังงานในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าภายในปี 2543 ดังนั้นประเทศไทยซึ่งมีการใช้พลังงานเป็นเป็นอันดับสองของภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่กำลังมองหาหนทางพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดความต้องการให้ได้ถึงร้อยละ 15 ภายในปี 2578 การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและอุตสาหกรรม และเราเชื่อว่างานประชุมอย่าง อาเซียน พาวเวอร์ วีค นั้น มีความสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้เติบโตและความเจริญในสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้และมองเห็นโอกาสที่ดี ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ"
ทางด้านคุณ กุลรวีย์ บูรณสัจจะวราพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ มีความเห็นว่า " ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนทั้งหมดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ร้อยละ 25 ภายในปีค.ศ.2021 ซึ่งในสัดส่วนร้อยละ25 ของการใช้พลังงานทดแทน มีทั้งส่วนการผลิตไฟฟ้า ผลิตความร้อน ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อทดแทนการใช้น้ำมัน สำหรับการผลิตไฟฟ้า ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็น 14,000 เมกะวัตต์ภายใน 10 ปี โดย การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จะรับซื้อจากขยะ น้ำ ก่อนตามด้วยพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ และลม ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่เสถียร และมีผลกระทบกับคุณภาพไฟฟ้า จะส่งเสริมเป็นลำดับท้ายๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนที่จะมาลงทุนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในเรื่องสายส่งไฟฟ้า ต้องค่อยๆ ปรับตัว โดยรัฐบาลพยายามจัดทำโซนนิ่งการรับซื้อ เพื่อให้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
คุณมาร์คัส ลอเร็นซินี ประธานและกรรมการ บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่ากุญแจสำคัญของประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานนั้น คือ ความสมดุล "ขณะนี้มีความท้าทายหลักสี่ประการด้วยกันที่มีผลต่อตลาดการผลิตไฟฟ้า: การดูแลสภาพภูมิอากาศ, ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร, การจัดหาแหล่งพลังงานที่วางใจได้ และราคาที่เหมาะสม ในปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาด้านการผสมผสานการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน ที่เหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านในระดับหนึ่ง และเราหวังว่าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อในแนวทางการผลิตไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงในภูมิภาคต่างๆของประเทศ โดยสามารถสร้างความสมดุลได้ในการใช้แหล่งพลังงานทดแทนทั้งหลาย"
" บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย มีความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้มีส่วนช่วยในการสร้างกระบวนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยในหลายสิบปีที่ผ่านมา และเป็นตัวอย่างของการพัฒนาพลังงานลมในไทยซึ่งเราได้มีส่วนในการติดตั้งฟาร์มพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ จังหวัดนครราชสีมา"
คุณ โกวิท จึงเสถียรทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายแผนงานองค์กร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด มีความเห็นว่า การสนับสนุนทางการเงินในการลงทุนพลังงานทดแทน ธนาคารจะมองถึงความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของผู้ลงทุน โดยเฉพาะการสำรองแหล่งที่มาของพลังงาน คนทำธุรกิจไฟฟ้า อาจจะต้องหาคู่ค้าทางธุรกิจที่เป็นเจ้าของพืชผลทางภาคการเกษตรมาทำธุรกิจร่วมกัน เพื่อจะได้มีแหล่งสำรองพลังงานที่แน่นอน แต่ถ้าเป็นโครงการใหญ่ ก็ต้องเป็นการจัดหาเงินกู้ร่วมจากหลายๆ ธนาคาร แต่ไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กหรือใหญ่ การลงทุนทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนยังสามารถดำเนินการได้
คุณซาร่าห์ แฟร์เฮิร์ส หุ้นส่วน-บริษัท ลันเตา กรุ๊ป (ฮ่องกง) จำกัด ได้แบ่งปันมุมมองด้านการศึกษาที่ทีมของเธอได้ทำในภูมิภาคนี้เกี่ยวกับความสำคัญของการสร้างความหลากหลาย และได้นำเสนอผลการวิเคราะห์ที่น่าสนใจ "ประเด็นที่เห็นในขณะนี้ พลังงานทดแทนมีราคาที่สูงมากเพื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วไป และโอกาสที่ทำให้การผลิตพลังงานทดแทนมีต้นทุนถูกลง ควรจะมีการสัมปทานและการประมูล สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชีย ควรจะรอให้มีการพัฒนาการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในที่อื่นให้สำเร็จไปก่อน เมื่อมีต้นทุนถูกลง ค่อยนำมาใช้ เพราะพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในภูมิภาค"
"มีการพูดถึงเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดอย่างมากในภูมิภาคนี้ เราเห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทางด้านนี้ ลำดับต่อไปที่สำคัญคือ การสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนว่าถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่พึ่งพาได้มากที่สุด สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่งานประชุมอย่างงาน อาเซียน พาวเวอร์ วีค จะเป็นวทีที่สร้างความเข้าใจต่อคนทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถสร้างเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดอันจะมีประโยชน์อย่างมากทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม" คุณซาร่าห์กล่าว
สำหรับคุณดาร์เรน การ์วู้ด ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค บริษัท จีอี เพาเวอร์ แอนด์ วอเตอร์ จำกัด ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางพลังงานและเป็นผู้นำของภูมิภาคทางด้านความมุ่งมั่นในการพัฒนาพลังงานทดแทน "ก๊าซธรรมชาติจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการผสมผสานพลังงาน ซึ่งมีหลากหลายช่องทางในการบริหารการผสมผสานเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จ โดยอาศัยการจัดการที่รอบคอบทั้งจากภาคสาธารณะและเอกชน และความท้าทายด้านสังคมเกี่ยวกับการผสมผสานแหล่งพลังงานซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ทำให้มั่นใจว่าโครงการพลังงานทั้งเก่าและใหม่จะดำเนินไปได้อย่างประสบความสำเร็จ"
ส่วนทางด้านคุณ ทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมพลังงานทดแทนและผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีความเห็นว่า "ทุกธุรกิจอยากทำสัญญากับโรงไฟฟ้า โดยเมืองไทยเป็นต้นแบบของการทำธุรกิจดังกล่าวแก่ประเทศเพื่อนบ้าน การเข้าร่วมธุรกิจกับโรงไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อได้เข้าร่วมธุรกิจ อยากให้ทุกคนบริหารสัญญาให้ดี เพราะการบริหารสัญญาเป็นหัวใจสำคัญกับการสร้างโรงไฟฟ้า"
การอภิปรายดังกล่าวเป็นตัวอย่างของความรู้และมุมมองต่างๆที่จะมีการร่วมแบ่งปันในงาน อาเซียน พาวเวอร์วีค งานประชุมเชิงวิชาการและนิทรรศการอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1-3 กันยายน 2558 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นการรวมงาน "พาวเวอร์-เจน เอเชีย" "งาน รีนิวเวเบิล เอนเนอร์จี เวิลด์ เอเชีย" และ "งาน พาวเวอร์-เจน เอเชีย ไฟแนนเชียล ฟอรัม" เข้าด้วยกัน ภายใต้แนวคิด "การลงทุนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน" โดยจะเป็นงานประชุมเชิงวิชาการและนิทรรศการอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 7,500คน จากกว่า 60 ประเทศ ทั่วโลก
ตลอดทั้ง 3 วันของการประชุม จะแบ่งตาม 7 หัวข้อหลัก ซึ่งจะมีช่วงการประชุมมากกว่า 50 รอบ และมีผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติมากกว่า 150 คน ที่จะนำเสนอและสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญต่างๆในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า โดยจะมุ่งเน้นเรื่องประเด็นและความท้าทายทางกลยุทธและเทคนิคของภาคการไฟฟ้า การเติบโตของภาคพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน รวมถึงตลาดทางการเงินภายในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า
ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.aseanpowerweek.com | www.powergenasia.com | www.renewableenergyworld-asia.com | www.powergenasiafinance.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit