ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า จากภาพรวมการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนสำหรับผู้พิการล้วนได้รับการประเมินในระดับดีถึงดีมาก ซึ่งการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ทำให้ผู้พิการได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอัตราการศึกษาต่อด้านการอาชีศึกษาและระดับอุดมศึกษา ส่งผลให้มีงานทำและสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยข้อมูลของกองพัฒนาระบบบริการจัดหางาน กรมการจัดหางาน (กกจ.) ในปี 2557 ที่ผ่านมาพบว่า อัตราการรับพนักงานพิการเข้าทำงานนั้น มากถึง 24,780 คน คิดเป็นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีอัตรารับเข้าทำงาน 19,167 คน แต่จากการประเมินโดย สมศ. พบว่าโรงเรียนสำหรับผู้พิการยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา และส่งเสริมจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ ด้านจิตวิทยาการศึกษาพิเศษ ด้านกายภาพบำบัด ด้านกิจกรรมบำบัด เช่น ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด ตลอดจนความเชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ซึ่งขาดการสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ทำให้ในภาพรวมยังขาดนวัตกรรมในการพัฒนา ยังไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและการฝึกทักษะการเรียนการสอนสอดคล้องตามประเภทและระดับความพิการ เพื่อมุ่งสู่การเป็นต้นแบบการศึกษาเพื่อคนพิการในระดับสากล อันเป็นการสนับสนุนให้คนพิการสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมของประเทศไทยในขณะนี้ มีประชากรผู้บกพร่องทางร่างกายหรือพิการ ประมาณ 1.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจากผลสำรวจผู้พิการทั่วประเทศไทยอายุระหว่าง 2-30 ปี พบว่ามีเพียง ร้อยละ 18.3 เท่านั้น ที่กำลังศึกษาอยู่ แต่อีกร้อยละ 81.7 หรือกว่า 2.3 แสนคน ไม่ได้เรียนหนังสือ ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 10 ที่ระบุว่า "การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย" ซึ่งข้อบัญญัตินี้ครอบคลุมถึงการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ สังคม การสื่อสาร และการเรียนรู้ หรือผู้มีร่างกายพิการ ทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่มีผู้ดูแล หรือด้อยโอกาส ต้องได้รับการสนับสนุนให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสเป็นพิเศษด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีโรงเรียนเฉพาะสำหรับผู้พิการทั้งสิ้น จำนวน 43 แห่ง ใน 35 จังหวัด สามารถรองรับผู้พิการได้ถึง 15,000 คน รูปแบบโรงเรียนแบบประจำในทุกช่วงชั้นตั้งแต่ระดับปฐมวัย - มัธยมศึกษาตอนปลาย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.สถานศึกษาที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 20 แห่ง ใน 20 จังหวัด รองรับได้ 5,000 คน 2.สถานศึกษาที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 19 แห่ง ใน 19 จังหวัด รองรับได้ 7,000 คน 3.สถานศึกษาที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น จำนวน 2 แห่งใน 2 จังหวัด รองรับได้ 300 คน และ 4.สถานศึกษาที่สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสุขภาพ จำนวน 2 แห่ง ใน 2 จังหวัด รองรับได้ 400 คน อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาจะเปิดโอกาสแก่ผู้พิการมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติก็ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่จะต้องร่วมมือกันขจัดอุปสรรคและเปิดโอกาสให้ผู้พิการในหลายๆ เรื่อง ทั้งการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งมวลชน และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะต่างๆ อำนวยความสะดวกอย่างทางลาด หรือทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถออกมาใช้ชีวิตภายนอกได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit