มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง วิกฤตเกษตรกรไทยจากภัยแล้ง

14 Aug 2015

รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง วิกฤตเกษตรกรไทยจากภัยแล้ง : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,075 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 7-9 สิงหาคม 2558

ผลสำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนกรณีปัญหาวิกฤตที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทยมากที่สุดในขณะนี้พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 37.3 ระบุปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร รองลงมาคือร้อยละ 19.8 ระบุการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ร้อยละ 16.7 ระบุผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากปัญหาอุทกภัย/น้ำท่วม ร้อยละ 13.8 ระบุปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 4.0 ระบุไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ร้อยละ 3.3 ระบุผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง ร้อยละ 2.5 ระบุขาดรายได้/รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และร้อยละ 2.4 ระบุไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อทำการเกษตร ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงความต้องการการช่วยเหลือในปัญหาเดือดร้อนต่างๆของเกษตรกรนั้นพบว่า ในประเด็นของการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรนั้น เป็นสิ่งที่เกษตรต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 86.3 ในขณะที่ร้อยละ 13.7 ระบุยังสามารถรอได้ สำหรับปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรนั้นพบว่า ร้อยละ 82.0 ระบุต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 18.0 ระบุยังสามารถรอได้ ปัญหาการไม่มีเงินทุนหมุนเวียนทางการเกษตร นั้นพบว่าร้อยละ 81.1 ระบุต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 18.9 ระบุยังสามารถรอได้ การขาดรายได้/รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย พบว่าร้อยละ 80.8 ระบุต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 19.2 ระบุยังสามารถรอได้ ในกรณีปัญหาหนี้สินของเกษตรกร นั้นพบว่า ร้อยละ 80.6 ระบุต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 19.4 ระบุยังสามารถรอได้ กรณีผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากปัญหาอุทกภัย/น้ำท่วมนั้นพบว่าร้อยละ 80.4 ระบุต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 19.6 ระบุยังสามารถรอได้ ปัญหาไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง พบว่าร้อยละ 69.2 ระบุต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 30.8 ระบุยังสามารถรอได้ และกรณีผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากปัญหาภัยแล้งนั้นพบว่า ร้อยละ 67.8 ระบุต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 32.2 ระบุยังสามารถรอได้

ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนเกี่ยวกับความพอเพียงของข้อมูลที่เกษตรกรได้รับจากรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยนั้น พบว่า ร้อยละ 56.4 ระบุเกษตรกรได้รับข้อมูลเพียงพอแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 43.6 ระบุยังไม่เพียงพอ เพราะ ประชาชนยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน/บางพื้นที่ก็ไม่รับรู้อะไรเลย/รัฐบาลยังสื่อสารไม่ชัดเจน ประชาชนรับข่าวสารไม่ทั่วถึง/ช่องทางการให้ความรู้กับประชาชนยังช้า/ไม่ทันการณ์/ส่วนราชการในพื้นที่ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลให้เกษตรกร/ข้อมูลข่าวสารมาไม่ถึงเกษตรกร/ประชาชนยังไม่รู้ น่าจะเปลี่ยนวิธีการนำเสนอข้อมูลด้วยวิธีอื่น/รัฐบาลต้องกระจายข้อมูลแก่เกษตรกรให้ทั่วถึงและต่อเนื่อง

นอกจากนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบต่อไปถึงการยอมรับได้ หากเกษตรกรจะต้องงดทำการเกษตร/การเพาะปลูกในปีนี้ อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำนั้นพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 56.6 ระบุสามารถยอมรับได้ โดยให้เหตุผลสามารถสรุปได้ว่า เป็นภัยธรรมชาติต้องยอมรับ/เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เชื่อมั่นว่ารัฐบาลต้องมีทางออกที่ดี ที่ทำให้ชาวเกษตรกรไม่ขาดรายได้ เป็นวิกฤติแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เกษตรกรต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองด้วย / ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก เกษตรมีประสบการณ์แล้ว อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนร้อยละ 43.4 ระบุไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านไม่รู้จะทำมาหากินอะไร เกษตรกรต้องทำการเกษตรเพื่อการดำรงชีวิต ไม่มีอาชีพรองรับ ประชากรส่วนมากทำการเกษตรต้องการทำการเกษตรเพื่อชำระหนี้สิน ลำบากมาก ขาดแคลนรายได้ ไม่มีอาชีพเสริม ตามลำดับ

สำหรับความคิดเห็นของแกนนำชุมชนกรณีสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร หากจำเป็นจะต้องงดทำการเกษตร/เพราะปลูกในปีนี้นั้นพบว่า ร้อยละ 51.5 ระบุรัฐบาลต้องมาลงพื้นที่คุยกับประชาชนหรือเกษตรกร/รัฐบาลต้องลงมาให้การช่วยเหลือเยียวยาดูแลเกษตรกร /รัฐบาลลงไปแก้ไขโดยตรง รองลงมาคือร้อยละ 20.1 ระบุขุดเจาะบ่อบาดาลหรือสระ / เพิ่มแหล่งน้ำ /จัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ /จัดให้มีที่กักเก็บน้ำทุกหมู่บ้าน / ต้องสร้างระบบชลประทานที่ดี /แก้ไขระบบระบายน้ำ /ขุดแก้มลิงกักเก็บน้ำ ร้อยละ 19.1 ระบุรัฐบาลต้องให้การช่วยเหลือทั้งระบบ ได้แก่ หาอาชีพเสริมให้เกษตรกรเพื่อทดแทนอาชีพเดิม และมีตลาดรองรับ /สร้างรายได้ สร้างงานให้กับประชาชน /แจกเมล็ดพันธุ์พืชให้กับเกษตรกร /ปลูกพืชทดแทน ร้อยละ 13.7 ระบุสนับสนุนงบประมาณให้กับเกษตรกร /หาเงินทุนมาช่วยเหลือ /จัดหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ร้อยละ 10.3 ระบุแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร /ลดหนี้ ลดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกร /การพักหนี้เกษตรกร /ชะลอการใช้หนี้ ธกส. ร้อยละ 5.9 ระบุหาวิธีหรือแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนทำอย่างจริงจัง /ให้ความรู้ใหม่ๆ กับเกษตรกร /แก้ไขให้ตรงกับปัญหาของแต่ละจังหวัด / รับฟังปัญหาของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 2.1 ระบุส่งเสริมให้ใช้น้ำอย่างประหยัด /ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้น้ำน้อยลง /ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู เป็ด ไก่ มีโครงการเลี้ยงวัว ควายทดแทน

ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลนั้น พบว่า มาตรการที่ระบุว่ามีการดำเนินงานแล้วได้แก่ การจัดทำทะเบียนเกษตรกร แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร (ร้อยละ 89.2) การส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ไร่นาสวนผสม (ร้อยละ 78.3) การส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ที่จำเป็นให้เกษตรกร (ร้อยละ 75.8) มาตรการในการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร (ร้อยละ 71.9) นอกจากนี้ร้อยละ 68.2 ระบุมีการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมสหกรณ์ สร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างตลาดชุมชนในท้องถิ่น ร้อยละ 60.2 ระบุมีการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ร้อยละ 54.5 ระบุการจัดโซนนิ่งการเกษตร และการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ในขณะที่ร้อยละ 46.1 ระบุมีการจัดตั้งธนาคารปุ๋ย และศูนย์เมล็ดพันธ์ในทุกชุมชนแล้ว ตามลำดับ

ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านี้พบว่า ร้อยละ 28.9 ระบุเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ร้อยละ 27.1 ระบุดีเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 19.4 ระบุเดือดร้อนเหมือนเดิม และร้อยละ 24.6 ระบุเดือดร้อนมากกว่าเดิม ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินงานตามมาตรการสำคัญเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้นพบว่า มาตรการส่งเสริมโครงการตลาดชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าชุมชนมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยสูงที่สุดเท่ากับ 7.38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ การจัดโซนนิ่ง (zoning) พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรให้เหมาะสม ได้ 7.24 คะแนน การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ได้ 7.19 คะแนน สำหรับการสร้างงานในพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง นั้นได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 6.90 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ตามลำดับคุณลักษณะทั่วไปของแกนนำชุมชนผู้ตอบแบบสอบถาม

แกนนำชุมชนร้อยละ 91.1 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 8.9 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 4.8 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 24.5 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 70.7 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 32.0 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 40.0 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 6.0 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 22.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ แกนนำชุมร้อยละ 91.2 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 4.3 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ ร้อยละ 4.5 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 22.0 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 19.5 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 24.0 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 34.5 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ