เบิร์กลีย์ เอิร์ธ เผยผลวิจัยมลพิษทางอากาศในจีน

14 Aug 2015
เบิร์กลีย์ เอิร์ธ (Berkeley Earth) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่วิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ ได้เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า มลพิษทางอากาศได้คร่าชีวิตประชาชนเฉลี่ย 4,000 คนต่อวันในประเทศจีน หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 17% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศ นอกจากนั้นยังพบว่าประชาชนราว 38% ต้องหายใจเอาอากาศที่ "ไม่ดีต่อสุขภาพ" เข้าสู่ร่างกาย เมื่อวัดจากมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา ข้อมูลที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนี้ได้มาจากการจัดทำแผนที่ต้นตอมลพิษทั่วประเทศจีนด้วยการตรวจวัดจากภาคพื้นดินโดยตรง

ภาพ - http://photos.prnewswire.com/prnh/20150812/257983-INFO

มลพิษที่อันตรายที่สุดคือ PM2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคมลพิษขนาด 2.5 ไมครอนหรือเล็กกว่า ที่สามารถแทรกเข้าไปในปอดและกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ มะเร็งปอด และโรคหืด ทั้งนี้ โรเบิร์ต โร้ด ผู้ร่วมจัดทำรายงาน กล่าวว่า "อันที่จริงแล้ว ปักกิ่งเป็นต้นตอของมลพิษ PM2.5 ในระดับปานกลางเท่านั้น โดยมลพิษส่วนใหญ่ลอยมาจากพื้นที่อุตสาหกรรมที่อยู่ไกลออกไป โดยเฉพาะจากเมืองฉือเจียจวง ซึ่งอยู่ห่างจากปักกิ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 200 ไมล์" เมื่อแหล่งกำเนิดมลพิษไม่ได้อยู่ในพื้นที่ การลดมลภาวะเพื่อรองรับการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 จึงค่อนข้างเป็นเรื่องยาก

ในรายงานซึ่งได้รับการเผยแพร่ทางวารสาร PLOS ONE นั้น เบิร์กลีย์ เอิร์ธ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดภาคพื้นดิน 1,500 สถานี ที่มีการเก็บทุกชั่วโมงเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 4 เดือน และพบข้อเท็จจริงว่า แหล่งกำเนิด PM2.5 ตรงกับแหล่งกำเนิดของกำมะถัน ซึ่งตีความได้ว่ามลพิษส่วนใหญ่มาจากถ่านหิน ทั้งนี้ มลพิษทางอากาศได้คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลกต่อปี มากกว่าโรคเอดส์ มาลาเรีย เบาหวาน หรือวัณโรคเสียอีก

ริชาร์ด มุลเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิทยาศาสตร์ประจำเบิร์กลีย์ เอิร์ธ และผู้ร่วมจัดทำรายงานนี้ กล่าวว่า "มลภาวะทางอากาศเป็นหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดในโลกทุกวันนี้ ครั้งล่าสุดที่ผมไปปักกิ่ง มลพิษอยู่ในระดับอันตราย ทุกชั่วโมงที่สัมผัสกับมลพิษทำให้ชีวิตของผมสั้นลง 20 นาที ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็คือ เหมือนกับว่าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กทุกคนสูบบุหรี่ 1.5 มวน ทุกๆ 1 ชั่วโมง"

อลิซาเบธ มุลเลอร์ ผู้อำนวยการบริหารเบิร์กลีย์ เอิร์ธ กล่าวว่า "มลภาวะทางอากาศกำลังคร่าชีวิตผู้คนมากมาย แต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลักๆ ไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปกลับไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้" เธอยังแนะนำด้วยว่าแนวทางการแก้ปัญหามีอยู่มากมาย เช่น การใช้ตัวดักจับเขม่าควัน การเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงาน รวมถึงการเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานทดแทนอื่นๆ "แนวทางที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ จะช่วยให้จีนลดการก่อภาวะโลกร้อนได้เช่นเดียวกัน อันจะทำให้เราสามารถรักษาชีวิตผู้คนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต"

เบิร์กลีย์ เอิร์ธ หวังว่าจะขยายการค้นคว้าให้ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆทั้งในเอเชีย สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยจะศึกษาว่าแหล่งกำเนิดมลภาวะทางอากาศจะเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาอย่างไรบ้าง

สามารถดาวน์โหลดรูปภาพที่เกี่ยวข้อง รายงานทางวิทยาศาสตร์ หรือชมภาพยนต์การเปลี่ยนแปลงของมลพิษทางอากาศได้ที่ http://berkeleyearth.org/air-pollution-overview/

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดสัมภาษณ์ได้ที่

อลิซาเบธ มุลเลอร์

อีเมล: [email protected]

โทร. (+1) 510-517-9936

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit