คุณณัชพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดออนไลน์ บริษัท โทเทิล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "Telecommunication enables Digital Disruption, a new wave challenging all industries" ในงานวันสื่อสารแห่งชาติ NET2015 ว่าปัจจุบันนอกเหนือจากการมีอุปกรณ์ไอทีที่มีความชาญฉลาดแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น คนไทยจำนวนกว่า 80เปอร์เซ็นต์ใช้อินเตอร์เน็ทผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสถิติที่เป็นซุปเปอร์ก้าวกระโดด และเมื่อเน็ตเวิร์คพร้อม ข้อมูลจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีบริการใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณข้อมูล ภาพ และเสียงเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนบริษัทเกิดใหม่ที่เพิ่มขึ้น และโครงสร้างของระบบธุรกิจที่เปลี่ยนไป ซึ่งรวมถึงการรับข้อมูลของคนก็เปลี่ยนไปด้วย เช่น คนอ่านหนังสือเร็วขึ้น เพราะเปลี่ยนจากการอ่านเป็นการสแกนแทน ประกอบกับมีแนวโน้มการซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น เหตุผลเหล่านี้ทำให้ในอนาคตจะมีผู้ใช้ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ด้านคุณไพโรจน์ ไววานิชกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ดิจิตอล บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในโลกสังคมดิจิตอลขณะนี้ จำนวนคนใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกมีกว่า 6.1 พันล้านคน มีการใช้งานเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งเพื่อการทำธุรกรรมการเงิน ช็อปปิ้ง หรือเพื่อการบันเทิง
ขณะที่คุณวิโรจน์ โตเจริญวานิชรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงข้อควรระวังจาก Digital Disruption ว่าความเร็วของการสื่อสารที่ก้าวหน้าอาจส่งผลกระทบต่อ Digital Disruption มากขึ้นตามไปด้วย ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจึงควรปรับตัว เพราะ Digital Disruptive สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น เช่นในธุรกิจระบบ e-Commerce แต่ควรระวังการโกงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐต้องเข้ามามีบทบาทกำกับดูแลผู้บริโภค และเตรียมความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ใช้งานรวมถึงออกนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลแบบสร้างสรรค์ที่ชัดเจนด้วย
ด้านคุณรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหากจะสามารถปฏิวัติทางเทคโนโลยีได้นั้น ต้องมี 3 ข้อใหญ่ๆ ผ่าน3 I คือ Innovation,Internet และ Industry โดย Innovation คือนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Video on Demand ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มี Internet แต่ในด้าน Industry อุตสาหกรรมใหม่ๆ เรายังเป็นรองจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ผลิตเทคโนโลยีบางราย ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น Samsung ที่ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม
ส่วนการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆในบ้านเรานั้นสามารถทำได้ ซึ่งประโยชน์ของเทคโนโลยีนอกจากจะสามารถพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแล้วยังสามารถพัฒนาให้การบริการดีขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา ดังนั้นจึงหวังว่า กสทช.จะทำให้คนไทยมีโอกาสใช้อินเตอร์เน็ทอย่างเท่าเทียมกันในรูปแบบฟรีบริการ ซึ่งนี่ป็นความท้าทายของกระทรวงใหม่ที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit