มหาวิทยาลัยนครพนม จัดเวทีเสวนาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนทรัพยามนุษย์เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม” ณ ห้องประชุมพลตำรวจเอกสนอง วัฒนวรางกูร ชั้น 3 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ดร.ไพฑูรย์ พลสนะ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวต้อนรับ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาชุมชนเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม” นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม บรรยายพิเศษ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม” และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม บรรยายพิเศษ “ทิศทางและบทบาทของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้าสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม”
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า จังหวัดนครพนมเป็นเมืองชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง อดีตเคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักร “ศรีโคตรบูรณ์” อันรุ่งเรือง พ.ศ.๑๘๐๐ มีพระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ และ ๗ พระธาตุ คือ พระธาตุเรณู พระธาตุศรีคุณ พระธาตุมหาชัย พระธาตุมรุกขนคร พระธาตุประสิทธิ์ พระธาตุท่าอุเทน และพระธาตุนคร จัดเป็นพระธาตุประจำวันเกิด มีชนเผ่าไท ๙ ชนเผ่า ประกอบด้วย ๑) เผ่าไทยญ้อ ๒) เผ่าผู้ไทย ๓) เผ่าไทยกะเลิง ๔) เผ่าไทยแสก ๕) เผ่าไทยโส้ ๖) เผ่าไทยข่า ๗) เผ่าไทยอีสาน ๘) ชาวไทยเชื้อสายจีน และ ๙) ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม
นครพนมเป็นเมืองที่สวยงาม เป็นเมืองอารมณ์ดีอันดับ ๘ ของโลก จากการจัดอันดับขององค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อปี 2555 และเป็นเมืองแห่งความสุขอันดับ ๑ ของประเทศ ในปี 2556 จากการจัดอันดับของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับกรมสุขภาพจิต ได้รับฉายา “กุ้ยหลินเมืองไทย” คือ เป็นจังหวัดที่มีอากาศเย็นสบายตลอดปี มีความสวยงามของทิวทัศน์ มีจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นจากแม่น้ำโขงในตอนเช้าที่สวยงามมาก
การพัฒนาเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นครพนมจะเป็นศูนย์กลางของประเทศในภูมิภาคอินโดจีน เป็นศูนย์กลางของกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) ที่จะสามารถเชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว กับประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทางบก นครพนม – เวียดนาม เมืองฮาติงห์ (ทล.หมายเลข 12) 148 กม. เมืองกวางบิงห์ (ทล.หมายเลข 8) 230 กม. นครพนม – จีน (เมืองผิงเสียง) 831 กม.
แผนพัฒนาจังหวัดนครพนม พ.ศ.๒๕๕๗ – ๒๕๖๐ กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา ๕ ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ๑.การพัฒนาการค้าและการลงทุน ๒.การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ๓.การพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ๔.การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตเพื่อสร้างความสุขอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ ๕ การรักษาความมั่นคงชายแดน
จังหวัดนครพนมอยู่ในเส้นทางตามแผนการก่อสร้างรถไฟรางคู่สายใหม่ (บ้านไผ่-สารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม) มีสนามบินที่มีศักยภาพเป็นท่าอากาศยานสากล เส้นทางเชื่อมโยงนครพนมสู่อาเซียนและจีนตอนใต้-ตะวันออก เส้นทาง R8 นครพนม-คำม่วน-เมืองวิงห์-ฮานอย-หนานหนิง 1,031 กม. ถนนสาย R12 นครพนม-คำม่วน-ฮาติงห์-เมืองวิงห์-ฮานอย-หนานหนิง ระยะทาง1,029 กม. และถนนสาย R9 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต-เมืองวิงห์-ฮานอย-หนานหนิง ระยะทาง 1,586 กม.
ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว นครพนมเป็นเมืองขนาดเล็ก สงบ ไม่วุ่นวาย เหมาะแก่การพักผ่อนและอยู่อาศัย มีธรรมชาติสวยงาม สมบูรณ์ มีประวัติศาสตร์จูงใจให้ท่องเที่ยว มีฐานประเพณีวัฒนธรรมเข้มแข็ง มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม รวมทั้งมีศักยภาพในการเกษตร ทั้งด้านพืชและปศุสัตว์ มีพรมแดนติดต่อกับแขวงคำม่วนและแขวงบริคำไชย ของ สปป.ลาว และเป็นพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ ๒ ในส่วนของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข การพัฒนาประสิทธิภาพการศึกษา การป้องกันรักษาป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง และการรักษาความมั่นคงชายแด ก็อยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดที่จะต้องเร่งดำเนินการ
“การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนา จะต้องกำหนดทิศทางในการพัฒนา กำหนดผังเมือง การตั้งคำของบประมาณ การบูรณาการแผนงานทุกภาคส่วน การกำหนดเป้าหมาย/รูปแบบ/พื้นที่ ความสะอาด ความเขียว มีระเบียบ สถาปัตยกรรม เหล่านี้คือหลักการของรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ การสร้างมาตรการสินค้า-บริการ การคงเอกลักษณ์ประเพณี-วัฒนธรรม และการเป็นเมืองแห่งความสงบปลอดภัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าว
นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนมมีขนาดพื้นที่ 5,528.8 ตารางกิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 3.4 ล้านไร่ แนวยาวตามฝั่งแม่น้ำโขง 153 กิโลเมตร 12 อำเภอ 99 ตำบล 1,123 หมู่บ้าน ห่างจากกรุงเทพมหานคร 735 กิโลเมตร มีประชากร 713,323 คน นครพนมมีสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 เชื่อมจังหวัดนครพนม ไปยังแขวงคำม่วน (สปป.ลาว) ซึ่งเป็นสะพานมิตรภาพที่สวยที่สุดในปัจจุบัน โดยสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 นี้ ได้เชื่อมเข้ากับถนนสายใหม่ ชื่อว่า “R12” ซึ่งเป็นถนนที่มีแนวผ่านส่วนที่แคบที่สุดของ สปป.ลาว โดยมีระยะทางเพียง 140 กิโลเมตรเท่านั้น ปัจจุบันเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุด จากไทยไปถึงตอนกลางของเวียดนาม ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางการค้าใหม่ รวมทั้งยังเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในการเดินทางไปมณฑลกว่างสีประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลจีนประกาศให้เป็นประตูทางการค้าของจีนสู่อาเซียน
คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้กำหนดพื้นที่จังหวัดนครพนมเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 โดยกำหนดพื้นที่ 2 อำเภอ 13 ตำบล รวมเนื้อที่ 744.79 ตารางกิโลเมตร หรือ 465,493.75 ไร่ ประกอบด้วย (1) อำเภอเมืองนครพนม มี 10 ตำบล ได้แก่ ตำบลอาจสามารถ ตำบลหนองแสง ตำบลในเมือง ตำบลหนองญาติ ตำบลท่าค้อ ตำบลนาราชควาย ตำบลนาทราย ตำบลโพธิ์ตาก ตำบลบ้านผึ้ง และตำบลกุรุคุ (2) อำเภอท่าอุเทน มี 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลโนนตาล ตำบลเวินพระบาท และตำบลรามราช
“บทบาทที่เหมาะสมของจังหวัดนครพนม ในการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ คือ การเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ การผลิตอาหารปลอดภัยและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เมืองแห่งการอยู่อาศัยเชิงสุขภาพ (Health Happy Country : HHC) ศูนย์ธุรกิจการค้าส่งและตลาดกลางสินค้าเกษตร สินค้าในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง และเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานและศูนย์ฝึกอบรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน”
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จากแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การวางผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงต้องมีการกำหนดพื้นที่สำคัญเพื่อรองรับกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบด้วย สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รูปแบบศูนย์บริการร่วม One Stop Service (OSS) ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว/กิจกรรมบริการท่องเที่ยว สำนักงานการท่องเที่ยวและร้านอาหารที่มีชื่อเสียงของจังหวัด โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศ เขตการค้า/ร้านค้าปลอดภาษีอากร พัฒนาพื้นที่ให้เป็นการค้าชายแดนที่ทันสมัย กิจการค้าส่งเพื่อเป็นพื้นที่กลางสำหรับผู้ชื้อและผู้ขาย คลังสินค้าระหว่างประเทศ/ศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และสถานีขนส่งผู้โดยสาร เชื่อมโยงการเดินทางในระดับเมืองและระดับภูมิภาค บริการโลจิสติกส์ข้ามแดน ท่าอากาศยานนานาชาติ และศูนย์ซ่อมอากาศยานนานาชาติ
“จังหวัดนครพนมมีศักยภาพในการเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้า ระหว่างประเทศไทย – ลาว – เวียดนาม - จีนตอนใต้ เป็นระยะทางที่สั้นที่สุดเพียง 1,029 กิโลเมตร โดยใช้สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) เชื่อมกับเส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 12 ใน สปป.ลาว และเส้นทางหมายเลข 1A ในเวียดนาม อีกทั้งจังหวัดนครพนมได้ก่อสร้างศูนย์โลจิสติกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศและศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2558 จังหวัดนครพนมจึงเหมาะสมที่จะเป็นจุดพักสินค้าและส่งออกไปสู่เวียดนาม และจีนตอนใต้ และแหล่งค้าส่งสินค้าก่อนเข้าสู่จังหวัดอื่น”
นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบด้วย 1.สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) 2.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 (นครพนม-ท่าอุเทน) 3.อาคารศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (OSS) 4.อาคารคลังตรวจสินค้าและเก็บของกลาง (R8) 5.อาคารคลังสินค้า (R12) 6.อาคารด่านชายแดน (CIQ) จังหวัดนครพนมได้ก่อสร้างอาคารสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งสามารถปรับใช้เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ONE STOP SERVICE (OSS) เพื่อบริการข้อมูลและอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุนและแรงงาน และได้มีการก่อสร้างอาคารศูนย์โลจิสติกส์และคลังสินค้า รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งระหว่างประเทศและรองรับการใช้ประโยชน์สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) และรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม
“โครงการในอนาคตที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ 1.โครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค งบประมาณ 700 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปา การประปาส่วนภูมิภาค งบประมาณ 550 ล้านบาท และได้มีการจัดทำร่างการจัดวางโซนนิ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่โคกภูกระแต ซึ่งมีพื้นที่รวม 2,938 ไร่ ประกอบด้วย 1.พื้นที่รองรับศูนย์ราชการ ขนาดประมาณ 700 ไร่ 2.พื้นที่รองรับตลาดกลางและศูนย์แสดงสินค้า ขนาดประมาณ 1,100 ไร่ 3.พื้นที่รองรับนิคมอุตสาหกรรม ขนาดประมาณ 1,000 ไร่ 4.พื้นที่แหล่งน้ำโครงการ ขนาดประมาณ 125 ไร่”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม บรรยายพิเศษ “ทิศทางและบทบาทของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เข้าสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม” โดยกล่าวว่า หน้าที่พื้นฐานของมหาวิทยาลัย มี 3 ประการ คือ 1.การสร้างทุนความรู้ (Know ledge Capital) ด้วยการแสวงหาความรู้ สะสม การบันทึก และการสร้างนวัตกรรม ซึ่งรวมเรียกว่า “การวิจัย” 2.การสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้วยการผลิตบัณฑิต ระดับสูง ระดับวิชาชีพ และ 3.การนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ (แก้ปัญหาให้แก่สังคม ระบบการผลิต การสร้างผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ)
“บทบาทพื้นฐานของมหาวิทยาลัย ต้องเพิ่มประชากรนักศึกษา สร้างงาน เพิ่มแหล่งความรู้ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและการเพิ่มธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ต้องดำเนินการบทบาทในเชิงรุก ด้วยการผลิตงานวิจัย การสร้างนวัตกรรม การสร้างผู้ประกอบการใหม่ การทำให้มีวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ เพราะหากใครครอบครองความรู้และนวัตกรรมได้ จะเป็นผู้ครอบครองเศรษฐกิจได้” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit