นายสมคิด รุจีปกรณ์ ผู้จัดการแผนกกิจกรรมเพื่อสังคมกลุ่มธุรกิจกระทิงแดง เปิดเผยในงาน กิจกรรม “จุดพลังเปลี่ยนแนวคิด สู่เกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน” ที่จัดขึ้นเพื่อเกษตรกรในพื้นที่รอบโรงงานปราจีนบุรี ว่า “โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ทางกลุ่มธุรกิจกระทิงแดง มุ่งมั่นขับเคลื่อนให้กับพี่น้องเกษตรกรบางแตน เพื่อให้มีวิถีทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เดินหน้าไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และในฐานะที่กระทิงแดงเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบางแตน เราได้เล็งเห็นความสำคัญของวิถีความเป็นเกษตรกรของคนในพื้นที่แห่งนี้มาโดยตลอด ทางกลุ่มผู้บริหารจึงได้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้น เพื่อมาใช้เป็นแนวทางให้กับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่แห่งนี้ ตามแนวนโยบายของบริษัทฯ “จุดพลังใจ ขับเคลื่อนสังคมไทย” โดยให้พนักงานของกระทิงแดงได้ทำงานร่วมกับชุมชนบริเวณรอบโรงงาน ซึ่งกระทิงแดงจะเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการผลิต ในระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีผลผลิตที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด
ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เราได้ลงพื้นที่เพื่อเสวนาพูดคุย และรับฟังถึงปัญหาของเกษตรกรมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยได้นำเอาความหลากหลายทางความคิดเห็น มาร่วมกันวิเคราะห์กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในกลุ่มภาคีที่เรามีอยู่ เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ถูกจุด ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก การขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่โดยรอบโรงงานปราจีนบุรีนี้ กระทิงแดงจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ทุกรูปแบบ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จากทั่วประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ทั้งการจัดการด้านองค์ความรู้ในเรื่องการผลิต การแปรรูป รวมถึงการจัดการระบบตลาด ส่วนกิจกรรม จุดพลังเปลี่ยนแนวคิด สู่เกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน มีพี่น้องเกษตรกรมาเข้าร่วมกว่า 100 คน โดยรูปแบบของการจัดกิจกรรม เน้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ว่าจะสามารถช่วยให้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นได้อย่างไร เพราะเกษตรอินทรีย์ คือ การทำการเกษตรด้วยหลักธรรมชาติ โดยไม่พึ่งพาสารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต และมีต้นทุนการผลิตต่ำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในทุกๆ ด้านแบบยั่งยืน
กิจกรรม ทั้งหมด มี 4 ฐาน
เริ่มจากฐานที่ 1 เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่นิยมเพาะปลูกในประเทศไทย และคุณสมบัติที่สำคัญเพื่อให้เกษตรกรเข้าใจสภาพการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ โดย อ.เดชา ศิริภัทร ทีมภาคีเครือข่ายกลุ่มข้าวขวัญจากจังหวัดสุพรรณบุรี
ฐานที่ 2 เป็นฐานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ ดิน แหล่งอาหารสำคัญของข้าว ว่าสภาพดินที่ดีเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวแต่ละประเภทเป็นอย่างไร และต้องทำอย่างไรหากในพื้นที่ขาดความสมบูรณ์ เน้นการสร้างแร่ธาตุในดินอย่างเป็นธรรมชาติโดยใช้อินทรียวัตถุ โดยมี อ.จักรภฤต บรรเจิดกิจ และ อ.ปรกชล อู๋ทรัพย์ เป็นวิทยากร
ฐานที่ 3 นั้นเป็นฐานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือที่ช่วยปลดหนี้ให้กับครัวเรือน ด้วยระบบบัญชีครัวเรือน เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าใจการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อบริหารจัดการนาข้าวของตน
ฐานที่ 4 เป็นความรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่มกันทำตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าชุมชนเป็นที่ต้องการของตลาด เรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม โครงการนี้นอกจากการสนับสนุนการจัดการองค์ความรู้ในเรื่องการผลิต การแปรรูป รวมถึงการจัดการระบบตลาดแล้ว กระทิงแดงยังได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตามปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้ คือ จำนวน 1 บาท / 1 กิโลกรัมข้าวเปลือก และจ่ายเงินให้กับ “กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์” เพื่อขับเคลื่อนระบบการผลิตแบบอินทรีย์ จำนวน 1 บาท / 1 กิโลกรัมข้าวสาร
โดยจะสนับสนุนเฉพาะผลผลิตที่ผ่านระบบการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) หรือผ่านมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) เท่านั้น โดยจะสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 5 ปี / 1 เกษตรกรผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการ
สำหรับเงื่อนไขของเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ จะต้องรวมกลุ่มกันจัดทำแผนงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ส่งมาที่โรงงานปราจีนบุรี โดยเกษตรกรต้องมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ใน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเกษตรอินทรีย์ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรที่ 1 (จ.สุพรรณบุรี) เป็นหลักสูตรการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ข้าว การปรับปรุงดินและการจัดการศัตรูพืช ส่วนหลักสูตรที่ 2 ( จ.ยโสธร) เป็นหลักสูตรการดำเนินการสร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การแปรรูป การรับรองคุณภาพ การสร้างรายได้เสริม และการสร้างตลาดทางเลือก (Green Market) ต่อมาเมื่อเกษตรกรผ่านการอบรมแล้วต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างให้เกิดวิสาหกิจชุมชม
โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 จะเกิดการปรับเปลี่ยนจากระบบการผลิตแบบเคมี เข้าสู่ระบบการผลิตแบบอินทรีย์ในพื้นที่บ้านบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรีได้สำเร็จ และจะเดินหน้าสร้างความยั่งยืนหวังให้เป็นชุมชนต้นแบบของวิถีเกษตรอินทรีย์ แก่เกษตรกรทั่วประเทศต่อไป