กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีนโยบายในเรื่องของการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมในมิติวัฒนธรรม โดยเฉพาะประเด็นการใช้สื่อของกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงได้จัดกิจกรรม “เด็กไทยและไอที” มาอย่างต่อเนื่องซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทัน และเลือกรับปรับใช้สื่อไอทีให้เกิดประโยชน์กับตนเองและส่วนรวม ตลอดจนสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของสื่อไอทีที่มีต่อเด็กและเยาวชน เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดูแลและปกป้องบุตรหลานให้ห่างไกลสื่อไอทีที่เป็นภัยได้
ศาสตราจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดกิจกรรม “เด็กไทยกับไอที ปี 3” มีกิจกรรมหลัก คือ การประกวดคลิปวีดิโอความยาว 60วินาที หัวข้อ “เด็กไทยรู้เท่าทันสื่อ” เพื่อปลดปล่อยพลังความคิด จินตนาการอย่างสร้างสรรค์ สู่สายตาชาวโลก ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 200,000 บาท โดยคุณสมบัติผู้เข้าประกวด คือ เด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษา สามารถเข้าร่วมกิจกรรมแบบคนเดียว หรือแบบทีมไม่เกิน 3 คน โดยรางวัลชนะเลิศ ได้รับเงิน จำนวน 100,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงิน จำนวน50,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงิน จำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร โดยกำหนดเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 กันยายน2558 นี้ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม โทรศัพท์ 0 2422 8845 8 หรือ หมายเลข 1765 สายด่วนวัฒนธรรม หรือ http://www.m-culture.go.th/surveillance/
พร้อมกันนี้ยังจัดงาน “เด็กไทยกับไอที ปี 3”ขึ้น ระหว่างวันที่ 16 – 18 ตุลาคม 2558 ณ ศูนย์การค้า สยามสแควร์วัน (Siam Square One) ชั้น LG ซึ่งภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ เวทีเสวนาด้าน ไอที โดยกูรูด้านไอทีที่มีชื่อเสียงจะมาให้สาระบันเทิงเกี่ยวกับสื่อไอทีต่างๆ รวมถึงแนวทางการใช้สื่อไอทีอย่างไรให้ปลอดภัยและสร้างสรรค์, การจัดนิทรรศการเด็กไทยกับไอที โดยมีการนำเสนอวิวัฒนาการของสื่อไอทีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองเล่นและสัมผัสกับอุปกรณ์ไอทีประเภทต่างๆ และการแสดงโดยศิลปิน ดารา นักร้อง และนักแสดง เพื่อเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้พบปะกับศิลปินที่เป็นไอดอล (Idol) ในปัจจุบันศาสตราจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ กล่าวปิดท้าย