1. เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สินค้าและผลิตภัตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ที่สำคัญของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๒ ให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายแก่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
2. เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และระดับประเทศ
3. เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับความร่วมมือกันในกลุ่มประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ โดยให้นักท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ได้เข้าถึงวิถีชีวิต และเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น และสามารถพัฒนาเชื่อมโยงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมร่วมกันได้ต่อไปกิจกรรมประกอบไปด้วย
1. การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ระหว่างศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก กับศิลปวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายทางวัฒนธรรมของจังหวัดภูเก็ต ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การแสดงนิทรรศการ และการสาธิต - ถ่ายทอด ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรม อาทิ การชงชา การปักผ้ากะเหรี่ยง หัตถกรรมเครื่องเงินน่าน การจักสานผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา / การแสดงและจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรม โดยผู้ผลิต - ผู้จำหน่ายค้าทางวัฒนธรรม อาทิ ผ้าทอไทลื้อ ผ้าหม้อห้อม ผ้าทอพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา ของที่ระลึกผ้าปักชนเผ่า ครีมมะขาม น้ำมันงานบริสุทธิ์สกัดเย็น ข้าวซอยตัด แคบหมู ผลิตภัณฑ์แปรรูปสาหร่ายน้ำจืดและมะไฟจีน / การแลกเปลี่ยนการแสดงศิลปวัฒนธรรมบนเวที
2. การประชาสัมพันธ์ และการจัดทำสื่อวีดิทัศน์มัลติมีเดียเรื่อง “เสน่หา...ล้านนาตะวันออก” เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๒โดยมีคณะเดินทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบไปด้วย ผู้แทนหน่วยงานเครือข่ายทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ผู้ผลิต - ผู้จำหน่าย ผู้สาธิตผลิตภัณฑ์สินค้าภูมิปัญญาทางด้านวัฒนธรรม นักแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา และสื่อมวลชน รวมจำนวน ๖๕ คน
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ๒ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีความโดดเด่นในด้านวิถีชีวิต เอกลักษณ์ สถาปัตยกรรมท้องถิ่น มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า ๓๐ ชนเผ่า ซึ่งได้มีการรวมตัวกันเป็นอาณาจักรล้านนา และถึงแม้จะมีการแบ่งแยกการปกครองเป็นเขตจังหวัด แต่ก็ยังมีเดินทางท่องเที่ยว และร่วมกันทำกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละจังหวัดมีความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมดังนี้
จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ เพราะอยู่ในจุดที่เป็นรอยต่อ ของประเทศ เมียนมาร์ ลาว และไทย เชียงรายจึงสามารถจัดงานเทศกาลระหว่างประเทศได้ เช่น งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มแม่น้ำโขง งานลอยกระทง และงานสงกรานต์สี่ชาติ และยังมีสีสันของประเพณีชนเผ่า อีกมากมาย ด้วยสภาพทางภูมิประเทศที่เป็นดอยสูง อากาศหนาวเย็น และทัศนียภาพสวยงาม เชียงรายจึงเป็นประตูแห่งแดนสยาม ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความเต็มใจ
จังหวัดพะเยา มีทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่อยู่ใจกลางเมืองพะเยา เรียกว่ากว๊านพะเยา ถือเป็นอู่ข้าว อู่น้ำของเมือง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และยังเป็นสถานที่จัดประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำที่วัดติโลกอาราม ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกว๊านพะเยา และเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในโลก และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ นอกจากนี้พะเยา ยังมีชาวไตลื้อ ที่อาศัยอยู่ในอำเภอเชียงคำและเชียงม่วน มีวัฒนธรรมของตนเองที่บอกเล่าผ่านงานสถาปัตยกรรม งานพุทธศิลป์ และงานหัตถศิลป์มากมาย
จังหวัดแพร่ มีพระธาตุช่อแฮเป็นพระธาตุประจำเมือง เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านการค้าไม้ มีอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมที่สวยงาม และสมบูรณ์อยู่หลายแห่ง อาทิ คุ้มเจ้าหลวงที่สร้างขึ้นในสมัยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์อุดรฯ และพิพิธภัณฑ์บ้านวงศ์บุรี แพร่ยังมีประเพณีและเทศกาลที่มีความหลากหลาย และแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ เช่น ประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวน ประเพณีดำหัวหงส์ของคนเมือง ประเพณีตากธรรมที่อำเภอ สูงแม่น เป็นต้น
จังหวัดน่าน มีพระธาตุประจำเมืองคือพระธาตุแช่แห้ง และยังมีวัดสำคัญคือวัดภูมินทร์ ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังศิลปะไตลื้อที่ลือเลื่อง ชาวไตลื้อเป็นชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดน่านนานกว่าชาติพันธุ์อื่นๆ มีชื่อเสียงในเรื่องผ้าทอลายน้ำไหล และเครื่องเงิน น่านปัจจุบันเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวนิยมมาท่องเที่ยว ด้วยวิถีชีวิต ที่เรียบง่าย เสน่ห์ของเมืองน่านจึงไม่ได้อยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองน่านด้วย
“เสน่ห์ของล้านนาตะวันออก มิได้จำกัดอยู่เพียงฤดูกาลท่องเที่ยว แต่เสน่ห์แห่งล้านนาตะวันออกนั้นมีอยู่ทุกฤดูกาล เพราะเสน่ห์แห่งเมืองเหล่านี้ เกิดมาจาก ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมที่หลอมรวมอยู่ในสายเลือดของคนในพื้นที่ ที่เติบโตอย่างรู้รักรากเหง้าของตนเอง เมื่อได้ไปเยี่ยมเยือนแล้ว จึงรู้สึกเสมือนได้เดินเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต”