เดินหน้างานวิจัยด้านการเกษตรฯ สศก. แจง 4 ยุทธศาสตร์สู่แผนปฏิบัติการ

25 Aug 2015
สศก. เผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 2 ระบุ ที่ประชุมไฟเขียวหลักการร่างยุทธศาสตร์งานวิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร พ.ศ. 2558 – 2562 ชู 4 ยุทธศาสตร์ พร้อมเดินหน้าแผนปฏิบัติการ เน้นนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกาตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 2/2558 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการเสนอถึงการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ปี 2558 – 2560 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 มีมติเห็นชอบการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามข้อผูกพันองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้าหอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง (หัวพันธุ์มันฝรั่งและหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป) ที่แตกต่างจากที่กำหนดตามข้อผูกพันองค์การการค้าโลก ปี 2558 – ปี 2560

สำหรับหัวพันธุ์มันฝรั่งและหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ก่อนสิ้นสุดการนำเข้าในปีแรก ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินผลการดำเนินงาน ราคานำเข้า ราคาตลาด เพื่อกำหนดราคาในปีต่อไปที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิต รวมทั้งกำหนดมาตรการรองรับการนำเข้าหัวมันฝรั่งสดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการเปิดตลาดในปีต่อไป พร้อมนี้ ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ยุทธศาสตร์งานวิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ. 2558 – 2562) ที่เสนอโดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1) การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารเชิงพาณิชย์ 2) การวิจัยเพื่อรองรับ การเปลี่ยนแปลงตลาด ในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก 3) การวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน 4) การวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนงานวิจัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และจัดทำแนวทางการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติต่อไป รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดตามข้อเสนอของที่ประชุมในประเด็นการวิจัยสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการผลิตในภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น