นายรุ่งวิชิต คำงาม หัวหน้าโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษกำลังเสี่ยงต่อการสูญหายไปของวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และภาษา หากคนรุ่นใหม่ไม่เข้ามารับช่วงต่องานจากผู้ใหญ่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชุมชนในอนาคต เพราะหากเยาวชนไม่เข้าใจรากเหง้าเดิม เวลามาพัฒนาชุมชนก็จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างผิวเผิน การทำโครงการนี้จึงถือเป็นการเตรียมเด็กให้เชื่อมต่องานกับผู้ใหญ่ในการดูแลบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งผลของการทำโครงการหนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้เราเห็นพลังของพลเมืองรุ่นใหม่ของจังหวัดศรีสะเกษที่จะรับช่วงต่องานจากผู้ใหญ่ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.การสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังจะสูญหาย 2.การเรียนรู้วิถีชีวิตการหาอยู่หากินบนฐานทรัพยากร และ 3.การทำโครงการจิตอาสาเพื่อชุมชน เทศกาลแห่งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจึงเป็นทั้งเวทีสื่อสารและเติมพลังให้กับเยาวชนเกิดความภาคภูมิใจ และได้คิดงานต่อเพื่อชุมชนของตนเองอย่างต่อเนื่อง ผู้ใหญ่ที่มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนในชุมชนได้เห็นศักยภาพของลูกหลานที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนทำประโยชน์เพื่อชุมชน ด้านผู้บริหารท้องถิ่น ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รู้จัก เข้าใจกระบวนการพัฒนาเยาวชน และเข้ามามีส่วนหนุนเสริมการพัฒนาเยาวชนให้เป็นกำลังคนคุณภาพของท้องถิ่นในวันหน้า โดยภายในงานยังมีการประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนสมัครเข้าร่วมโครงการในปีที่ 2 อีกด้วย
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เพราะเราเชื่อว่าเยาวชนทุกคนมีพลังสร้างสรรค์อยู่ในตัวเอง และชุมชนมีพลังของการขับเคลื่อนที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้ก็คือ การเปลี่ยนเยาวชนในยุคปัจจุบันที่เป็นเจนมี “Gen ME” หรือ Me Generation ที่มองตัวเองสำคัญที่สุดและเป็นศูนย์กลาง ให้เป็น พลเมืองสร้างสรรค์ หรือ Active Citizen ที่รู้จักการแบ่งปัน มีจิตสาธารณะ และเป็นพลังนำไปสู่การพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่นของเขาในรูปแบบต่างๆ ที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ มีพันธมิตรร่วมงานกว่า 15 องค์กร สถาบันการศึกษากว่า 55 สถาบัน และมีเยาวชนเข้าร่วมสร้างสรรค์โครงการกว่า 5,000 คน ซึ่งมีโครงการอยู่ทั่วประเทศ
คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดนำร่อง (สงขลา น่าน สมุทรสงคราม และศรีสะเกษ) ภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ หลังจากจังหวัดน่านได้จัดงานมหกรรมเยาวชนผ่านพ้นไปแล้ว ทางจังหวัดศรีสะเกษก็ได้จัดงานเทศกาลแห่งการเรียนรู้ขึ้น สำหรับมูลนิธิสยามกัมมาจลเชื่อว่าการพัฒนาเยาวชนเพื่อให้เป็นคนเก่ง คนดี ต้องไม่นิ่งดูดายกับปัญหา มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม หรือที่เรียกว่า “การสร้างพลเมือง” นั้นไม่สามารถทำได้ด้วยการสอน แต่สร้างได้จากการเปิดพื้นที่และโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านเรื่องราวสถานการณ์ปัญหาของชุมชนของตนเอง โดยให้เขาได้ทดลองทำโครงการเล็กๆ ที่สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองทำได้ ระหว่างทำมีพี่เลี้ยงคอยเติมทักษะกระบวนการทำงาน ทักษะการคิดวิเคราะห์ รวมทั้งการถอดบทเรียนให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำที่มีต่อตนเองและสังคม อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ คนในพื้นที่คือกลไกสำคัญ สำหรับความเชื่อการสร้างพลเมืองเยาวชนที่ทางมูลนิธิสยามกัมมาจลกับ สสส.มีความเชื่อเดียวกันตามแนวทางข้างต้นจึงให้การสนับสนุนให้มีโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อร่วมกันพัฒนาเยาวชนให้เป็นกำลังของประเทศในอนาคตนั่นเอง
“บทบาทของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่หนุนต้องไม่ใช่สั่งเขา แต่การเข้าไปหนุนเขา เราต้องดูจังหวะ และเราต้องฟังเด็กด้วย เรารับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่อย่างเราในวันนี้ต้องรู้จักเปลี่ยน เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการทำงาน แล้วอีกสิบปีข้างหน้าเรามองย้อนกลับมา เราจะดีใจที่เรามีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น” คุณปิยาภรณ์กล่าว
สำหรับโครงการเยาวชนในปีที่ 1 มี 10 โครงการ มีตัวแทนเยาวชนร่วมสะท้อนการเรียนรู้ของตัวเองหลังเข้าร่วมโครงการ เริ่มจาก น้องมุ่ย น.ส.สตรีรัตน์ บังคม นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม แกนนำกลุ่มรากแก้ว ใน “โครงการ Eng Easy สานใจเติมฝันเรียนรู้ร่วมกันจากพี่สู่น้อง" ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้น้องรู้สึกดีและอยากเรียนวิชาภาษาอังกฤษมากขึ้น สะท้อนว่า “โครงการนี้ทำให้หนูได้พัฒนาตัวเองจากการเข้าร่วมเวิร์คช็อปที่โครงการจัดให้ ทั้งเรื่องการทำงานเป็นทีม เรื่องการวางแผน เรื่องการนำเสนอข้อมูล และเรื่องการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ทำให้หนูได้ความรู้และพัฒนาตัวเองอย่างมาก และทำให้หนูรู้ด้วยว่าโครงการนี้เน้นพัฒนาตัวบุคคลมากกว่าตัวโครงการต่างจากโครงการอื่นๆ ที่หนูเคยทำมา ทำให้เราเห็นความสามารถของตัวเองว่าเราสามารถทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้ ระหว่างการทำโครงการยังเปลี่ยนให้หนูเป็นคนใจเย็นลง ใส่ใจ และรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น เพราะในกลุ่มมีน้องต่างชั้นอยู่ด้วย เวลาคุยงานกับน้อง ถ้าน้องตามไม่ทันและไม่เข้าใจ หนูก็ต้องพยายามทำความเข้าใจน้อง กลับมาทบทวนวิธีการสื่อสารใหม่เพื่อทำให้น้องเข้าใจตรงกันและสามารถทำงานร่วมกันได้ นอกจากนี้หนูยังได้ฝึกเรื่องการเป็นผู้นำ-ผู้ตามที่ดี จากเมื่อก่อนหนูจะเป็นผู้นำตลอด ถ้าคุยงานกับเพื่อนแล้ว เพื่อนทำออกมาไม่ได้ดังใจ หนูก็จะขอไปทำใหม่เองคนเดียวจนเพื่อนไม่พอใจ และสุดท้ายงานก็ไม่เสร็จ แต่พอได้ทำโครงการแล้ว หนูก็เริ่มปรับเปลี่ยนมาเป็นรับฟัง ร่วมคิดร่วมทำกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ก็กลับมาดีเหมือนเดิมค่ะ”
น้องเต๋า อภิชาติ วันอุบล อายุ 14 ปี สมาชิกหลักกลุ่มกอนกวยโซดละเว “โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว)” กับความพยายามอนุรักษ์ผ้าไหมลายหางกระรอกของท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย สะท้อนว่า “การทำโครงการนี้ทำให้ผมได้รู้จักการทอและย้อมผ้าไหมโซดละเวด้วยสีธรรมชาติตามอย่างคนสมัยก่อนซึ่งทำให้ได้ผ้าไหมที่สวยและมีคุณค่ามากกว่าการย้อมด้วยสีเคมี เมื่อได้มาเรียนรู้แล้วยังได้ฝึกทำจนทำเป็น รู้สึกภูมิใจที่เราทอและย้อมผ้าไหมเองได้ จากเดิมที่ไม่ได้สนใจอยากทำและไม่สนใจอยากนุ่งผ้าไหมโซดละเวมาก่อนและมักหมดเวลาไปกับการเที่ยวเล่นและติดโซเชี่ยล กลับกันกับตอนนี้ที่เห็นคุณค่าของผ้าไหมโซดละเว ภูมิใจที่ได้สวมใส่ อยากให้มีโครงการสืบสานผ้าไหมในชุมชนต่อไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ผ้าไหมโซดละเวสูญหายไป ตอนนี้หากมีเวลาว่างผมก็จะทอผ้าและช่วยกันกับทีมคิดหาวิธีใหม่ๆ เพื่อทำให้ผ้าไหมโซดละเวมีคุณค่ามากขึ้น สิ่งที่ได้รับจากการทำโครงการยังทำให้ผมมีความรู้เรื่องการประกอบอาชีพ คิดว่าต่อไปในอนาคตหากเราไม่มีอาชีพก็สามารถใช้ความรู้นี้ประกอบอาชีพได้ เป็นอาชีพสุจริตที่ทำได้ที่บ้าน ด้านชุมชนเองก็เกิดความภาคภูมิใจที่คนภายนอกให้ความสนใจ เข้ามาศึกษาดูงานในเรื่องการทอผ้าไหมโซดละเวซึ่งเป็นของดีคู่ชุมชนของเรา ตอนนี้ยังเกิดกลุ่มน้องๆ กว่า 30 คนในชุมชนเข้ามาเรียนรู้และสืบสานผ้าไหมโซดละเวร่วมกันด้วย”
ส่วนเสียงสะท้อนจากบุคคลสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้ในการพัฒนาเยาวชน คือ “พี่เลี้ยงเยาวชน” ในพื้นที่ซึ่งจะคอยติดตาม ให้คำปรึกษา แนะนำ ตลอดจนให้กำลังใจเยาวชนได้เรียนรู้พัฒนาตนเองและงานจนสำเร็จลุล่วง พี่แล นางสาวสิดาวรรณ ไชยภา นักพัฒนาชุมชน อบต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน Spy Kids ผู้จัดทำ “โครงการเยาวชนเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูย” สะท้อนว่า “การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้ฝึกฝนทักษะการเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนซึ่งไม่เคยทำมาก่อน ทำให้เรามีกระบวนการคิด กระบวนการทำงานกับเยาวชน เรียนรู้ร่วมกันไปกับเขา ไม่ไปคิดแทนหรือไปกดดันเขาให้ทำตามเรา แต่เปิดโอกาสให้เขาคิดเอง ทำเอง เป็นเจ้าของสิ่งที่ทำ จะบอกเขาตลอดว่าโครงการนี้เป็นของน้องนะ ไม่ใช่เป็นโครงการของพี่ พี่เป็นคนให้กำลังใจเฉยๆ สิ่งสำคัญคือพี่เลี้ยงต้องให้ความเป็นเพื่อน ให้ความเข้าใจ และมีความอดทนกับเขา พบว่าน้องๆ มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คิดเป็นทำเป็นมากกว่าเพื่อนวัยเดียวกันที่ไม่ได้เข้าร่วมทำโครงการ ยกตัวอย่างน้องพิมพ์ แกนนำเยาวชนซึ่งเป็นหลานแท้ๆ ของตัวเอง ที่ตอนนั้นกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.3 มีเพื่อนผู้ชายหลายคน เราก็พะวงว่าเขาจะหลงทางไหม แต่พอเขามาทำโครงการนี้แล้ว เราก็สัมผัสได้ว่าเขาเปลี่ยนแปลงไป เขาเห็นความสำคัญของการเรียนของตัวเองมากขึ้น ส่วนทักษะการเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนที่ได้เรียนรู้นี้ก็จะนำไปปรับใช้กับงานของตัวเองต่อไปด้วย”
ภายในงานเทศกาลแห่งการเรียนรู้ครั้งที่ 1 บอกเล่า “พลังคุณค่าเยาวชนพลเมืองศรีสะเกษ” ผ่านกิจกรรมสำคัญประกอบด้วย เวทีนำเสนอผลงานเยาวชน 10 พื้นที่ สะท้อนคุณค่าการทำโครงการของเยาวชนที่มีต่อตนเองและชุมชนใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้านสัมมาชีพ และด้านสังคม, นิทรรศการการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชน, การประชาสัมพันธ์รับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการปีที่ 2 นอกจากนี้ยังมี เวทีเสวนา ในหัวข้อ “พลังคุณค่าพลังพลเมืองเยาวชน 4 ภาค” โดยตัวแทนพลเมืองเยาวชน 4 พื้นที่ คือ น่าน สงขลา สมุทรสงคราม ศรีสะเกษ และ การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อาทิ การฟ้อนแคน การแสดงดนตรีพื้นบ้าน และการสวดสรภัญญะภาษากูย
"สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการในปีที่ 2 ตอนนี้เรากำลังขยับต่อเพื่อหาองค์กรภาคีอื่นๆ มาเป็นเพื่อนใหม่เพื่อมาทำงานร่วมกันกับเราให้มากขึ้น อาจเป็นหน่วยงานที่ทำเรื่องเยาวชนอยู่แล้ว หรือเป็นหน่วยงานใหม่ทั้งจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน มหาวิทยาลัย วัด โรงเรียน และบริษัทห้างร้านเอกชน รวมทั้ง NGOs ที่สนใจต้องการขับเคลื่อนเรื่องการสร้างพลังพลเมืองเยาวชน ก็จะมีการขยายเครือข่ายและสร้างกลไกการขับเคลื่อนโครงการในระยะยาวภายในจังหวัดศรีสะเกษร่วมกัน เพื่อร่วมกันหนุนเสริมกระบวนการพัฒนาเยาวชนของศรีสะเกษให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป" นายรุ่งวิชิต หัวหน้าโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษกล่าวปิดท้าย
ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าในอนาคตจะมีหน่วยงานใดเข้ามาร่วมบ้าง ?
สำหรับเยาวชนในจังหวัดศรีสะเกษที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการในปีที่ 2 สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจล www.scbfoundation.com หรือแฟนเพจ www.facebook.com/ThailandActiveCitizen สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 089 - 002 - 9142
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit