สปช.เสนอยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศทะยานสู่แนวหน้าของโลกภายในปี 2575

26 Aug 2015
ในงาน”สปช. รายงานประชาชน:เปลี่ยนประเทศไทยกับสปช.” จัดโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ สรุปผลงานและส่งมอบวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา แก่รัฐบาลตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 นั้น คณะกรรมาธิการสังเคราะห์ภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ได้ประมวลสรุปข้อเสนอการปฏิรูป 11 ด้าน โดยกำหนดคณะกรรมาธิการ 18 คณะ มีวาระการปฏิรูปและวาระการพัฒนา รวม 43 วาระโดยอุปมาเสมือนเครื่องบินที่จะต้องทะยานไต่ระดับสู่ความสูงใหม่ในระดับแนวหน้าของโลก

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย คณะกรรมาธิการสังเคราะห์ภาพรวมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยสู่อนาคต พ.ศ. 2575 คือ ประเทศไทยจะมีระบบการเมืองที่เปิดกว้างไม่ผูกขาด ประชาชนมีส่วนร่วมและประเทศไทยมีผู้นำที่เก่งและดี โดยรายได้ต่อหัวของคนไทย เฉลี่ย480,000 บาทต่อคนต่อปี มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 6% ต่อปี โดยเมื่อถึง พ.ศ. 2575 คนไทยมีสุวรรณภูมิเป็นบ้านและอาเซียนเป็นที่ทำงาน มีทุนที่มั่นคงทั้งในด้านการเงินการคลัง และเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นมีป่าไม้เพิ่มเป็น 40% ของพื้นที่ มีระบบน้ำเพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่ 70% ในส่วนของคุณภาพเด็กไทยนั้น หลังจากการปฏิรูปแล้ว การศึกษาจะมีผลสัมฤทธิ์สูงจนเด็กไทยสามารถอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกและชั้นนำของเอเซีย

การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่วางไว้นั้น จะต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งในระดับภาคการผลิต ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคผู้ประกอบการ ตลอดจนเศรษฐกิจระดับมหภาค โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ เป็นตัวนำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตถึง 6% ต่อปีจนสามารถแข่งขันในตลาดการค้าระดับโลกได้

การปฏิรูประบบการบริหารจัดการภาครัฐ เป็นสิ่งที่จำเป็น ทั้งนี้ เพื่อจัดการคอร์รัปชันและทำให้การบริการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บุคลากรภาครัฐได้รับการพัฒนา โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี พ.ศ. 2575 ภาครัฐจะก้าวสู่ระบบราชการใสสะอาด มีประสิทธิภาพสูงสามารถสร้างความเติบโตให้แก่ภาคธุรกิจ ทั้งภาคเอกชนและประชาสังคม

ในส่วนของการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ พร้อมงบประมาณ เชิงพื้นที่ มีการวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ โดยกระจายอำนาจและสร้างความเข้มแข็งภาคพลเมือง มีการจัดการระบบสวัสดิการ ระบบบริการสาธารณสุข ปฏิรูปคุณภาพการศึกษา มีการสร้างงาน พัฒนาอาชีพบนฐานทุนทั้งทางด้านทรัพยากร ทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรม

คานงัดสำคัญที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล จะต้องตรากฎหมายเพื่อรองรับการปฏิรูป และจัดสรรงบประมาณเพื่อการปฏิรูปนี้ โดยภาคประชาชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบป้องกันการทุจริต และเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาระดับต่าง ๆ ตลอดจนร่วมกันนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน