ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ความสำเร็จในการที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่“โลกที่หนึ่ง”ล้วนแล้วแต่ต้องผ่าน“กระบวนการปฎิรูปขนานใหญ่อย่างเป็นระบบ”(Great Reform) ที่ครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปฎิรูปขนานใหญ่อย่างเป็นระบบเพียงครั้งเดียวในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นก็ขาดการปฎิรูปขนานใหญ่อย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เมื่อพัฒนาได้ถึงระดับหนึ่ง ประเทศไทยต้องเผชิญกับกับดักประเทศรายได้ขนาดปานกลาง เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยทุจริตคอรัปชั่น มิเพียงเท่านั้น ยังเป็นประเทศที่กำลังเผชิญกับความขัดแย้งที่รุนแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หากปราศจาก“การปฏิรูปใหญ่ครั้งที่ 2”ประเทศไทยอาจกลายเป็นประเทศที่ล้าหลัง เป็นรัฐที่ล้มเหลวในที่สุด แต่ถ้าหากดำเนินการปฏิรูปครั้งใหญ่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ก็อาจเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยจะสามารถปรับเปลี่ยนกลายเป็นประเทศในโลกที่หนึ่ง เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน เฉกเช่นเดียวกับอารยประเทศอื่นในประชาคมโลก
การที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้หลุดพ้นจากสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทุจริตคอรัปชั่น และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่โลกที่หนึ่งได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี“วิสัยทัศน์”เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยยึด “ผลประโยชน์ชาติ” เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังต้องกำหนด“กรอบยุทธศาสตร์ชาติ”เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนประเทศเพื่อไปสู่วิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ได้
ในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมดิจิตอลในศตวรรษที่ 21 หลายประเทศได้ดำเนินการปฏิรูปขนานใหญ่อย่างเป็นระบบเพื่อรับมือกับชุดของโอกาส ความเสี่ยงและภัยคุกคามชุดใหม่ ทำการรื้อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม โครงสร้างพื้นฐาน ปรับเปลี่ยนระบบคุณค่าและวัฒนธรรมการดำรงชีวิต การทำงาน และการเรียนรู้ โดยการยกระดับคุณภาพในทุกภาคส่วนและปรับเปลี่ยนให้เป็นประเทศในโลกที่หนึ่งฉะนั้น เป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ของประเทศไทย ก็คือ การพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศในโลกที่หนึ่งภายในปี พ.ศ. 2575การเป็นประเทศในโลกที่หนึ่งในบริบทของประเทศไทยมีคุณลักษณะ 6 ประการด้วยกันคือ1)มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติและวัฒนธรรมของตน 2) พัฒนาคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 3)มีสังคมที่มีคุณภาพ 4)มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ 5)มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และ 6)การมีบทบาทสำคัญในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก
กลไกขับเคลื่อนความมั่งคั่งของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด จาก “โมเดลประเทศไทย 1.0”ที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยเกษตรกรรม พัฒนาไปสู่ “โมเดลประเทศไทย 2.0”ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และ“โมเดลประเทศไทย 3.0”ที่เน้นอุตสาหกรรมหนักตามลำดับ ซึ่งประเทศไทยในศตวรรษที่ ๒๑ จะต้องเปลี่ยนผ่านจากโมเดลประเทศไทย 3.0 เป็น “โมเดลประเทศไทย 4.0”เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศในโลกที่หนึ่งปรับเปลี่ยนจากประเทศ “รายได้ปานกลาง” เป็นประเทศ“รายได้สูง” ปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “ประสิทธิภาพ” เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย“นวัตกรรม”
โมเดลประเทศไทย 4.0 ประกอบด้วย “กลไกการขับเคลื่อน” ชุดใหม่ (New Growth Engine) 3 กลไกสำคัญคือ1)กลไกขับเคลื่อนผ่านการสร้างและยกระดับผลิตภาพ (Productive GrowthEngine) 2) กลไกขับเคลื่อนที่คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Growth Engine)และ 3) กลไกการขับเคลื่อนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Green Growth Engine)ภายใต้ “โมเดลประเทศไทย 4.0” จำเป็นจะต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจากเดิมที่มี“ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ”ให้มี“ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน”เพื่อเปลี่ยนจากโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม“เพิ่มมูลค่า”ไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม“สร้างมูลค่า”ซึ่งประกอบด้วย 5 กลุ่มหลักๆประกอบด้วย 1)กลุ่มอุตสาหกรรมทางชีวภาพ 2)กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน 3)กลุ่มอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมและการออกแบบ 4)กลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิต และ5)กลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้ตั้งอยู่บนฐานของความได้เปรียบเชิง“ธรรมชาติ”และความได้เปรียบเชิง “วัฒนธรรม”ที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และต่อยอดด้วยการบริหารจัดการ องค์ความรู้สมัยใหม่ เทคโนโลยี มิเพียงเท่านั้น ทั้ง 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่นี้ จะสอดรับกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงในประชาคมโลกที่กำลังค่อยๆเปลี่ยนผ่านจากยุคของสังคมที่เน้น “องค์ความรู้” มาสู่ยุคของสังคมที่เน้นการยกระดับ“คุณภาพชีวิต”มากขึ้น
ในอดีตประเทศไทยมุ่งเน้นการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญโดยขาดการพัฒนาในมิติอื่นให้มีความสอดคล้องกัน โมเดลประเทศไทย 4.0 จึงเน้นการ“พัฒนาที่สมดุล”ใน 4 มิติ กล่าวคือ มีความสมดุลในความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การรักษ์สิ่งแวดล้อม การมีสังคมที่อยู่ดีมีสุข และการเสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์โดยการพัฒนาที่สมดุลตั้งอยู่บนฐานคิดของ“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”หลักการสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีอยู่ว่า “เมื่อพร่อง ต้องรู้จักเติม เมื่อพอ ต้องรู้จักหยุด เมื่อเกินต้องรู้จักปัน”ในระดับจุลภาคการรู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปันจะทำให้ประชาชนมีหลักประกันในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม เกิดสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน ก่อให้เกิดการสร้างเสริมพลังทางสังคมและการสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนในสังคมตามมาในระดับมหภาค การรู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน จะทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพลวัตโลก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนการรู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน จึงเป็น “ระบบคุณค่าใหม่” ที่จะสามารถนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่งคั่ง ความมั่นคงและความยั่งยืนในโลกที่หนึ่งได้ในที่สุด
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศในโลกที่หนึ่งได้นั้น จำเป็นต้องมีความพร้อมในทุกด้าน แต่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่เป็นปกติ และไม่มีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นประเทศในโลกที่หนึ่งดังที่คาดหวังไว้ เนื่องจากยังคงประสบกับปัญหาที่สะสมเรื้อรังในหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีภารกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศในโลกที่หนึ่งอยู่ 2 วาระ ได้แก่ 1) วาระการปฏิรูป (Reform Agenda) คือ การปฏิรูปประเทศในประเด็นปัญหาที่สะสมเรื้อรังมานาน เพื่อทำให้ประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และ 2) วาระการปรับเปลี่ยน (Transformation Agenda) คือ การปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการพัฒนาเป็นประเทศในโลกที่หนึ่งวาระการปฏิรูปและวาระการปรับเปลี่ยน จะมีลักษณะงานที่แตกต่างกัน กล่าวคือ “วาระการปฏิรูป” จะมีลักษณะงานเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างและระบบ รวมถึงการปรับเปลี่ยนเชิงพฤติกรรม ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสภาปฏิรูปแห่งชาติได้มีการพิจารณาศึกษา วิเคราะห์และสังเคราะห์จนได้ข้อเสนอวาระการปฏิรูปจำนวน ๓๗ วาระด้วยกัน อาทิ ระบบงบประมาณ กระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปที่ดิน การปรับโครงสร้างภาษี การจัดตั้งสมัชาคุณธรรม เป็นต้น ส่วน“วาระการปรับเปลี่ยน” จะเป็นภารกิจใหม่ที่จะต้องดำเนินการเพื่อตระเตรียมและเติมเต็มประเทศให้มีขีดความสามารถในการพัฒนาต่อไป เช่น กลไกการขับเคลื่อนประเทศชุดใหม่ การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ระบบบริหารจัดการน้ำ การปรับเปลี่ยนสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอล และการบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น
ด้วยสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันยังคงต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้าหลายประการ ด้วยเหตุนี้ ในระยะแรก จำเป็นต้องเน้นการขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปเป็นสำคัญโดยมีเป้าหมายให้ประเทศกลับคืนสู่สภาวะปกติ ซึ่งเมื่อปัญหาสำคัญหลายประการได้รับการแก้ไขจนประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว จุดเน้นจะเปลี่ยนไปสู่การขับเคลื่อนวาระการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถเพียงพอต่อการพัฒนาเป็นประเทศในโลกที่หนึ่งต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit