บลูพริ้นท์แผนขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

26 Aug 2015
ในงาน”สปช. รายงานประชาชน:เปลี่ยนประเทศไทยกับสปช.” จัดโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ สรุปผลงานและส่งมอบวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา แก่รัฐบาลตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 นั้น สาเหตุสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งรัดการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ก็เนื่องจากเรากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ อันเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง ทั้งในภูมิภาคและในโลก ขณะเดียวกัน การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แม้จะช่วยทำให้สัดส่วนและจำนวนคนยากจนโดยรวมลดลง แต่คนไทยจำนวนมากยังต้องเผชิญกับปัญหาความไม่เท่าเทียมของโอกาสระหว่างในเมืองและชนบท ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)กล่าวว่า ในการวางอนาคตให้กับประเทศสำหรับลูกหลานชาวไทยทุกคน นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาอย่างแท้จริง รัฐจึงต้องเตรียมการวางรากฐานทางเศรษฐกิจในสองด้านไปพร้อมๆ กัน เรื่องแรก การเร่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลก ภายในปี 2575 โดยต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน และเร่งพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ รวมทั้งต้องมีการกำหนดกรอบนโยบายที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนโดยรวม

สำหรับประเด็นแรก เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคหรือข้อกีดกันทางการค้าที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้ไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับกับปัญหาความท้าทายภายนอกเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลใจก็คือความสามารถทางการแข่งขันของไทยกลับลดลง โดยจากการจัดอันดับ World Competitiveness ของ IMD ในปี 2557 อันดับของไทยตกลงมา 2 อันดับ กลายเป็นอันดับที่ 29 ของโลก และเป็นที่ 3 ของอาเซียน สวนทางกับประเทศคู่แข่งของเราหลายๆ ประเทศที่ความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวม ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญเพื่อพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยผลักดันให้ประเทศไทยมีการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ให้ก้าวขึ้นเป็น Developed Trading Nation โดยกลไกหลักในการปฏิรูปจะประกอบด้วย การปฏิรูปภาคเกษตร และการสร้างสังคมผู้ประกอบการ พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่เสรีเป็นธรรมและปัจจัยเกื้อหนุนผ่านการปฏิรูปกฎหมายแข่งขัน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ คู่ขนานการพัฒนาภาคท่องเที่ยว เศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ASEAN ตลอดจนการเร่งปฏิรูปเพื่อใช้ระบบวิจัยให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา และใช้ระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศในอนาคตต่อไปหนึ่งในประเด็นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังเร่งผลักดันก็คือ การปฏิรูปกฎหมายแข่งขันทางการค้าให้ทันสมัยและบังคับใช้ได้จริง โดยมุ่งปฏิรูป 4 ด้านหลัก คือ ด้านสาระกฎหมาย การปรับบทนิยามสำคัญและการออกประกาศ หลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติให้ครบถ้วนและเป็นพลวัตร การปฏิรูปขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจและการกระทำไม่เป็นธรรมนอกประเทศที่กระทบการแข่งขันในไทย การปฏิรูปผู้บังคับใช้กฎหมายโดยปรับโครงสร้างคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้กะทัดรัด แต่เป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญซึ่งผ่านการสรรหาที่โปร่งใส ปลอดการเมือง และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่เป็นอิสระในการบริหารบุคลากร งบประมาณและการตัดสินใจ อีกทั้ง ปฏิรูปการสืบสวนดำเนินคดีและบทลงโทษ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรม ผู้ประกอบการรายเล็กไม่ถูกรายใหญ่เอาเปรียบ ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย และนำไปสู่การยกระดับประสิทธิภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ในระดับของโครงสร้างที่จะช่วยเสริมให้ประเทศแข่งขันได้ดีขึ้นนั้น ประเทศของเราต้องเร่งปฏิรูปภาครัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเกือบทั้งหมดของประเทศ โดยมีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจให้เป็นระบบ โปร่งใส สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ตกเป็นภาระทางการคลังของแผ่นดิน รวมทั้ง แยกบทบาทการเป็นหน่วยงานผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล องค์กรเจ้าของ และรัฐวิสาหกิจออกจากกัน ส่วนด้านระบบการเงินและสถาบันการเงิน แม้ประเทศไทยได้ทำการปฏิรูประบบสถาบันการเงินครั้งสำคัญหลังจากปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 แต่ในช่วงต่อไป ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปรอบใหม่ ซึ่งรวมไปถึง การปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์ การปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ให้เน้นภารกิจของตน ให้มีความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งการรวมศูนย์การกำกับดูแลให้หลุดพ้นจากการแทรกแซงทางการเมือง ตลอดจนการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ

สำหรับประเด็นที่สอง ด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นั้น รัฐจึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งปฏิรูปเพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชน โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติได้จัดทำข้อเสนอให้กับรัฐบาล ในหลายด้านที่เกี่ยวข้อง อาทิ การปฏิรูปภาคการเกษตร การประกันภัยพืชผล การสร้างความเป็นธรรมให้กับระบบเกษตรพันธสัญญา การปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม การสนับสนุนให้ประชาชนสามารถรวมตัวกันในเชิงการเงินในระดับฐานราก เพื่อออมและเป็นแหล่งทุนของสมาชิก การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการเงินของตนและครอบครัวได้ การให้ภาคเอกชนและประชาชนมีบทบาทที่มากขึ้น ในการลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท คนจนและคนรวย ตลอดจนการปฏิรูปด้านภาษี เพิ่มฐานภาษีประเภทต่างๆ อย่างครบถ้วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมให้กับระบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลระหว่างภาคส่วนต่างๆ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง