บลูพริ้นท์ปฏิรูประบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองที่สุจริตยุติธรรม

26 Aug 2015
ในงาน”สปช. รายงานประชาชน:เปลี่ยนประเทศไทยกับสปช” จัดโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ สรุปผลงานและส่งมอบวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา แก่รัฐบาลตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557นั้น การปฏิรูประบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างที่นำไปสู่ดุลยภาพความเข้มแข็งในสังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวสรุปประเด็นวาระการปฏิรูปในเรื่องการเมืองว่า ปัญหาด้านการเมืองของไทยเกิดขึ้นจากนักการเมืองสมรู้ร่วมคิดกับนายทุนและเจ้าหน้าที่ของรัฐกอบโกยทรัพยากรของแผ่นดิน และผลประโยชน์ของชาติมาเป็นของตนเอง เครือญาติและพวกพ้อง ดังนั้น เพื่อให้การปฏิรูปเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ได้จัดทำแผนปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจและระบบพรรคการเมือง ดังนี้

เรื่องที่ 1 การปฏิรูปพรรคการเมืองไม่เป็นของนายทุน การแปรสภาพพรรคการเมืองจากพรรคของนายทุนให้เป็นพรรคของประชาชน โดยเสนอให้มีการปรับโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองและสาขาพรรค ภารกิจของคณะกรรมการบริหารพรรค กระบวนการให้ได้มาซึ่งหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค กระบวนการคัดสรรและคัดเลือกตัวแทนที่มีคุณภาพ คุณธรรมและมีจริยธรรม สร้างกลไกและกระบวนการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองและประชาชนอย่างใกล้ชิดและมีส่วนร่วม

เรื่องที่ 2 การปฏิรูปกลไกการตรวจสอบ ประกอบด้วย 2.1 การกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งในสิบของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระ ทำหน้าที่ตรวจสอบการประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากผลการไต่สวนชี้มูลว่ามีความผิดทางอาญา ให้ประธานวุฒิสภาส่งคำฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป 2.2 การถอดถอน คือการกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งในสิบของสภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการไต่สวนอิสระ ทำหน้าที่ไต่สวนความผิด หากพบว่ามีมูลในการถอดถอน ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อดำเนินการถอดถอน โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง

เรื่องที่ 3 การปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ประกอบด้วย 3.1 การปฏิรูปที่มา คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามสมาชิกรัฐสภา 3.2 การปฏิรูปวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทุนทรัพย์ในการหาเสียงเลือกตั้งระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่และพรรคการเมืองขนาดเล็ก 3.3 การปฏิรูปโครงสร้างองค์กรและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้มีสมรรถนะและมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และมีมาตรการเชิงป้องกันและปราบปรามการซื้อสิทธิขายเสียงอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้ง มีการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง สร้างจิตสำนึกพลเมืองดีในวิถีประชาธิปไตย ให้เป็นพลเมืองที่ตระหนักรู้ ตื่นตัวทางการเมือง (Active Citizen) รวมทั้งมีคุณธรรมและจริยธรรม และมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกมิติ ทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างที่มีการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง

เรื่องที่ 4 การปฏิรูปองค์กรอิสระ เพื่อทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการเพิ่มอำนาจหน้าที่และปรับปรุงสมรรถนะขององค์กร ในเรื่องกระบวนการทำงาน การบริหารงาน และการพัฒนากำลังคนขององค์กรดังกล่าว ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน

เรื่องที่ 5 การปฏิรูปการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ประกอบด้วย 5.1 การกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้พลเมืองศึกษา(Civic Education) เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประเทศที่เป็นเอกภาพ และหลอมรวมการทำงานร่วมกับสถาบันหรือองค์กรทางวิชาการให้มีทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน 5.2 การกำหนดให้มีการปรับปรุงแนวทางในการรับฟังความคิดเห็น และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ต้องจัดให้มีวิธีการในการรับฟังความคิดเห็น หรือกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน 5.3 การกำหนดให้มีการปรับปรุงการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ โดยให้โอนอำนาจ หน้าที่ และภารกิจไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 5.4 การสร้างความเข้มแข็งอำนาจทางการเมืองภาคประชาชน การสร้างความสามารถการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ การพัฒนาการรับรู้การเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมทางการเมือง การพัฒนาทักษะและทัศนคติในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการพัฒนาการเมือง และการพัฒนาประเทศทั้งนี้ ให้มีการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายหรือตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป