โดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. เป็นหน่วยงานในสังกัดของ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ที่มีหน้าที่ในการยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ให้กับประชาชน และร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดตั้ง “มิวเซียมสยาม” พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ได้เปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวกับ “พิพิธภัณฑ์” ในแบบเดิมๆ ที่น่าเบื่อ ให้กลายเป็น “พิพิธเพลิน” ซึ่งมาจากคำว่า “Play + Learn” หรือแหล่งเรียนรู้ที่สนุกสนานและรื่นรมย์สำหรับคนทุกเพศวัย
เนื่องในวาระโอกาสครบรอบปีที่ 10 ของการก่อตั้ง สพร.นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงนโยบายและแผนงานต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนองค์กรแห่งการเรียนรู้แห่งนี้ไปสู่ปีที่ 11 ว่า เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ สพร. จะเติบโตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง หลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดให้บริการ “มิวเซียมสยาม”จนก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ในปีนี้ ซึ่งนอกจากจะมีแผนการปรับปรุงมิวเซียมสยามครั้งใหญ่ในปีนี้ ด้วยการนำเสนอนิทรรศการโฉมใหม่ที่ท้าทายความคิดให้กับสังคมไทยยังมีการปรับปรุงพื้นที่ในมิวเซียมสยามใหม่ทั้งหมดเพื่อให้การจัดแสดงนิทรรศการ จัดกิจกรรม และการให้บริการต่างๆ เกิดศักยภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงตอบโจทย์หรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้ในกิจกรรมที่หลากหลาย
“นอกจากการปรับพื้นที่และมีการปรับเปลี่ยนนิทรรศการในรูปโฉมใหม่แล้ว ก็จะมีการปรับรูปแบบของกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกัน โดยจะจัดให้มีกิจกรรมที่สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น เพราะเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่เหล่านี้คือกำลังหลักที่สำคัญในอนาคตของประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีนโยบายที่ต้องการให้เรานำเสนอนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะกระตุ้นให้เยาวชนของเรานั้นสามารถที่จะนำทุนทางปัญญา หรือทุนทางวัฒนธรรมไปต่อยอด และนำไปใช้ในอนาคตได้”
ซึ่งการปรับตัวของ สพร. ในการก้าวสู่ปีที่ 11 ส่วนหนึ่งก็เพื่อรองรับการเปิดให้บริการของ “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” ที่ได้มีการก่อสร้าง “สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย” ที่จะทำให้พื้นที่ทางด้านหน้าของมิวเซียมสยามนั้นเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น Gateway หรือประตูของการเดินทางท่องเที่ยวพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นสถานีรถไฟฟ้าเพียงสถานีเดียวบนเกาะรัตนโกสินทร์ โดยทาง สพร. กำลังปรับปรุงทั้งในส่วนของการเชื่อมโยงตัวสถานีเพื่อเข้าสู่ตัวของมิวเซียมสยาม รวมถึงการจัดทำนิทรรศการสะท้อนประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่ภายในตัวของสถานีรถไฟฟ้า
“ภายในตัวสถานีรถไฟฟ้าเราได้รับความอนุเคราะห์จาก รฟม. โดยมิวเซียมสยามจะเข้าไปบริหารจัดการการนำเสนอข้อมูลและจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ในพื้นที่ๆ รฟม.ได้จัดไว้ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นมิติใหม่ในเชิงพื้นที่ เพราะว่าพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่รายล้อมตัว สพร. และมิวเซียมสยาม ก็จะถูกยกระดับกลายเป็นพื้นที่ๆ เรียกว่า พื้นที่เปิดใหม่ทางด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นสังเกตุได้จากพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท่ามหาราช ท่าช้าง ท่าเตียน และตลาดยอดพิมาน มีการปรับปรุงและพัฒนากันขนานใหญ่ เพราะพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดกำลังจะกลายเป็น Culture District คือเป็นพื้นที่ ที่เน้นหนักในเรื่องของวัฒนธรรมในอนาคตที่สำคัญของประเทศ และมิวเซียมสยามก็ถือว่าเป็น gate way ที่สำคัญในอนาคต โดยเรากำลังจะใช้พื้นที่นี้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”
นอกจากภารกิจในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้สอดรับกับความต้องการที่หลากหลายของคนรุ่นใหม่แล้วในพื้นที่ชั้นในของ กทม. แล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของ สพร. นั่นก็คือ “การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้” ให้เกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ด้วยการ “พัฒนาแหล่งเรียนรู้” ยกระดับการจัดการและพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของผู้ชมมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้อง “กระตุ้นความสนใจ” ให้ผู้ชมเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ผ่านกลยุทธ์ที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมหรือนิทรรศการต่างๆ ที่มีเสน่ห์และรสนิยมตรงกับความสนใจ โดยใช้สื่อใหม่ๆ ที่ทันสมัยและเข้าถึงกับผู้ชมทุกช่วงอายุและเพศวัย เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ และให้เกิดการหมุนเวียนทางความรู้
“พิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ว่าจะอยู่ในการดูแลของภาครัฐหรือเอกชน ต่างก็มีบทบาทสำคัญในการที่จะพลักดันและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดของหน่วยต่างๆ ที่มี ก็อาจจะยังทำให้พิพิธภัณฑ์ไทยไม่สามารถก้าวไปได้ไกลหรือทัดเทียมเท่ากับนานาชาติ แต่ สพร.เป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัวในการที่จะคิดและทำอะไรใหม่ๆ เพื่อที่จะกระตุ้นสังคมได้ จึงมีแนวคิดในการสร้างกระแสให้คนรุ่นใหม่ได้หันมาเห็นความสำคัญกับการเรียนรู้ในเรื่องของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดหรือวิธีการต่างๆ ด้วยการไปพัฒนาในส่วนของมิวเซียมสยามและพิพิธภัณฑ์เครือข่าย ด้วยการจัดกิจกรรมหรือนิทรรศการต่างๆ ที่มีเสน่ห์ มีรสนิยมที่สอดสล้องกับความสนใจของคนรุ่นใหม่”
ซึ่งเมื่อมีการปรับปรุงทั้งรูปแบบพื้นที่และการให้บริการ รวมไปถึงการจัดนิทรรศการที่มีความน่าสนใจในพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ สพร. คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาแสวงหาความรู้ และใช้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในด้านต่างๆ ได้ และยังเป็นพื้นที่ๆ เปิดกว้างให้เข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
“ถึงตรงนี้ทัศนคติใหม่ๆ ที่ดีก็จะเกิดขึ้นกับพิพิธภัณฑ์ และทัศนคติเหล่านี้ก็จะเป็นตัวเพิ่มพูนหรือขยายผลไปสู่เป้าหมายต่อไปในอนาคต พิพิธภัณฑ์เครือข่ายและกลุ่มผู้มาใช้บริการก็จะถูกยกระดับและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ซึ่งตรงนี้เองจะช่วยสร้างให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้และเกิด Museum Culture ขึ้นในสังคมไทย” ผอ.ราเมศ กล่าวสรุป.