เพราะ “หาดสมิหลา” คือชีวิต “พลเมืองเยาวชนสงขลา” ลุกขึ้นมาปกป้องด้วยจิตวิญญาณ

21 Aug 2015
เพราะหาดสมิหลาคือทรัพยากรอันล้ำค่าของชาวเมืองสงขลา เมื่อเกิดปัญหากับหาดทรายอันเป็นที่รัก“เยาวชนพลเมืองสงขลา” จึงพร้อมใจกันลุกขึ้นมาปกป้องหาดสมิหลา อย่างเป็นระบบ ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากการเรียนรู้โจทย์จริงในพื้นที่และกระบวนการทำงานเชิงวิชาการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำและนำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นฐานให้ผู้ใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจแก้ปัญหาการพังทลายของหาดทรายโครงสร้างแข็งหรือเติมทรายอะไรคือทางออกของหาดสมิหลา ในวันนี้มีเด็กๆ มาช่วยต่อจิ๊กซอว์ให้แล้ว....

สำหรับพลเมืองเยาวชนสงขลา วันนี้มีตัวแทน 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มหาดเพื่อชีวิต Beach For Life(บีช ฟอร์ ไลฟ์) กลุ่มเม็ดทราย TheSand (เดอะ แซนด์) และกลุ่มว่าที่นักกฏหมายอาสา (Crescent Moon Lawyers) มาบอกเล่าเรื่องราวการทำงานและรายงานข้อมูลเชิงวิชาการเรื่อง “ผลการศึกษาและติดตามสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบและสิทธิพลเมืองในการมีส่วนร่วม กรณีการอนุรักษ์หาดสมิหลา ในงาน “The World Beach Day แลเล แลหาด ครั้งที่ 5”

เริ่มจากกลุ่มหาดเพื่อชีวิต Beach For Life (บีช ฟอร์ ไลฟ์) ดำเนินโครงการหาดเพื่อชีวิตปีที่ 3 มีแกนนำเยาวชน14 คน โดยให้นายสนินทร์ วงษ์บุดดา นายอณากร สีดำ และนางสาวเพรชเซิซ เอเลเล อีเลชุคกู นักเรียนจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวการก่อตั้งกลุ่มตั้งแต่ปี 2555 โดยมี “น้ำนิ่ง-นายอภิศักดิ์ ทัศนี” เป็นผู้ริเริ่มมีหลักในการทำงานคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องหาดทรายและการพังทลายของหาดสมิหลา และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนสงขลาในการฟื้นฟู อนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน การดำเนินงานของกลุ่มตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้มองเห็นเป็นรูปธรรม ในปี 2557 กลุ่ม Beach For Life ได้ศึกษากระบวนการทำ ธรรมนูญชุมชนจากเทศบาลต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา และนำกระบวนการมาปรับใช้เป็นธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน โดยเดินสายเปิดเวทีรับความคิดเยาวชนสงขลา 9 สถาบัน กว่า 11 เวที มีเยาวชนร่วมแสดงความคิดเห็นประมาณ24,637 คน จากความคิดเห็นของเยาวชนสงขลาในการอนุรักษ์หาดสมิหลานำไปสู่เวทียกร่างธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ได้ประกาศใช้และร่วมลงนามความร่วมมือ(MOU) ระหว่างพลเมืองเยาวชนสงขลากับเทศบาลนครสงขลา ในวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ทำให้เครือข่ายพลเมืองเยาวชนสงขลารวมตัวกันเหนี่ยวแน่นในการมาร่วมกันเฝ้าติดตามสภาพหาดสมิหลา โดยทุกๆ วันอาทิตย์แรกของเดือนเครือข่ายฯ และคนสงขลาที่มีใจรักหาดสมิหลาได้รวมตัวกันที่บริเวณหาดเก้าเส้งเพื่อร่วมติดตามสภาพหาดสมิหลา มีการเปิดวงพูดคุยและให้ข้อมูลรายละเอียดของการติดตามสภาพหาดสมิหลาร่วมถึงการแนะนำการใช้อุกรณ์ติดตามสภาพหาดสมิหลาที่มีเทรนเนอร์ของกลุ่มค่อยให้ความรู้ และคืนข้อมูลให้ชาวสงขลาทุกๆ 3 เดือนถึงผลการศึกษาและติดตามสภาพหาดสมิหลา

“เราอยากให้เยาวชนสงขลา คนสงขลาเข้ามาเรียนรู้และมาวัดหาดด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้สิ่งที่เขาเรียนรู้จะง่ายกว่าที่มาฟังพวกเราพูด พอมีความรู้เรื่องและความเข้าใจเรื่องหาดมากขึ้นว่ามีระบบนิเวศน์อย่างไรก็จะไปบอกต่อชาวสงขลาคนอื่นๆ ต่อไป ทำให้คนสงขลามีความเข้าใจเรื่องหาดมากขึ้นไป และข้อมูลที่พวกเราทำก็จะเป็นข้อมูลให้ผู้ใหญ่ช่วยในการตัดสินใจเมื่อมีโครงการใหม่ๆ เข้ามาที่หาดสมิหลา และในอนาคตพวกเราจะนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำศูนย์กลางข้อมูลหาดสมิหลาทั้งระบบด้วย”

จนเมื่อปี 2557 มีเรือขนส่งน้ำมันชื่ออรพิน 4 ของบริษัท ไทยปิโตรเลียมแท็งเกอร์ จำกัด ได้มาเกยตื้น ณ หาดสมิหลา บริเวณแหลมสนอ่อน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชายหาดสมิหลาเพราะเรือเปรียบได้เหมือนโครงสร้างทางชายฝั่งทะเลแบบหนึ่งคือเขื่อนกันคลื่น (Breakwater) สร้างความกังวลให้กับกลุ่มเยาวชนพลเมืองสงขลาเป็นอย่างมาก ประกอบผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และเป็นที่ปรึกษากลุ่มพลเมืองเยาวชนสงขลา ได้กระตุกจิตสำนึกในความอยากรู้อยากเห็นหากเรือลำนี้ถูกกู้ออกไปแล้วหาดทรายจะกลายสภาพเป็นอย่างไร? และถือกรณีนี้เป็นกรณีศึกษาอีกด้วย เยาวชนกลุ่มหนึ่งจึงถือกำเนิดขึ้นมาชื่อว่ากลุ่มเม็ดทราย TheSand (เดอะ แซนด์) นำทีมโดยนายวัชรภัทร นุ่มแก้ว น.ส.ธิดารัตน์ แก้ววิจิตร์ น.ส.พันไทร คงสุกแก้ว น.ส.ปรียานันท์ พันธ์สุข และน.ส.ปิยวดี ชูพิฤทธ์ จากโรงเรียนเทศบาล 5 เพื่อจัดทำโครงการเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบจากการเกยตื้นของเรืออรพิณ 4 และนำผลการศึกษามาเผยแพร่ให้คนเมืองสงขลาได้รับรู้และให้คนสงขลาได้ตระหนักถึงโทษของโครงสร้างแข็งว่ามีอย่างไร และช่วยกันอนุรักษ์ชายหาดสมิหลา และนำข้อมูลที่ทางกลุ่มได้ศึกษามาใช้ในการต่อรองเมื่อมีการสร้างเขื่อน หรือ สร้างโครงสร้างแข็งขึ้นที่ชายหาดสมิหลา การศึกษาเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2557 - 31 พ.ค.2557

“จากการที่เราลงพื้นที่สำรวจภาคสนาม ใช้หลักวิชาการจากที่อ.สมปรารถนาท่านให้หลักการไว้คือการวัดรูปตัดของชายหาด การวัดความลาดชันชายหา การวัดเก็บตัวอย่างตะกอนทราย การวัดแนวชายฝั่งโดยเครื่องมือจีทีเอส และการเก็บตัวอย่างภาพถ่าย พวกเราลงพื้นที่ทั้งหมด 8 ครั้ง เพื่อให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของชายหาดระหว่างกระบวนการเคลื่อนย้ายเรือ และติดตามการฟื้นตัวของชายหาดหลังจากการกู้เรือได้สำเร็จ จากการสำราจภาคสนาม สามารถสรุปได้ว่าหลังเรือเคลื่อนที่ออกจากชายหาดได้อย่างสมบูรณ์ รูปตัดชายหาดมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมดุลปกติอีกครั้ง สรุปได้ว่าการเกยตื้นของเรืออรพิณ 4 ส่งผลกระทบต่อกายภาพชายหาดเพียงชั่วคราวเท่านั้น พวกเราในฐานะพลเมืองเยาวชนรู้สึกภูมิใจที่โครงการนี้มีส่วนช่วยปกป้องหาดสมิหลาเราหวังว่า ข้อมูลที่พวกเราได้สรุปนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อหาดสมิหลาและเมืองสงขลาของเราต่อไป” สำหรับกระบวนการเก็บข้อมูลชายหาดเยาวชนทั้งสามกลุ่มได้เข้าร่วมด้วย

และสุดท้าย “ฝน-น.ส.อลิสา บินดุส๊ะ หนึ่งในแกนนำเยาวชนกลุ่ม Beach For Life หลังจากเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ได้รวบรวมเพื่อนๆ นักศึกษาปี 1 จัดตั้งชมรมกฏหมายและตั้งกลุ่มกลุ่มว่าที่นักกฏหมายอาสา (Crescent Moon Lawyers) ขึ้นมา “ฝน” เล่าว่าจุดเริ่มต้นของการตั้งกลุ่มเพื่อมาทำโครงการฯ นี้ เนื่องจากตอนร่วมกับกลุ่มบีช ฟอร์ ไลฟ์ ได้ไปค้นข้อมูลพบว่าในปัจจุบันยังไม่มีกฏหมายใดๆ เลยที่จะคุ้มครองหาดได้โดยตรง ทำให้มองว่าน่าจะเป็นปัญหาได้ หลังเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์จึงได้ชวนเพื่อนๆ มีนายอัษราพงศ์ ฉิมมณี น.ส.กชมา อุดมศิลป์ น.ส.จิรนันท์ จินดา น.ส.ชมพูนุช กิจธิคุณ และน.ส.เกษราภรณ์ เกียรติเฉลิมลาภ มาร่วมกัน”พวกเรามีเป้าเดียวกันคืออยากใช้ความรู้ที่เรียนมามีส่วนช่วยในการรักษาหาดทรายที่เป็นสมบัติล้ำค่าของเมืองสงขลาเอาไว้” กลุ่มฯ จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการ Law Long Beach ศึกษากฏหมายเพื่อคุ้มครองหาดทรายอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตราการทางกฏหมายที่มีอยู่ในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับหาดทราย โดยเฉพาะหาดสงขลา (เก้าเส้ง-สมิหลา)

“เป้าหมายที่ต้องการคือให้พวกเราได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับหาดและสามารถย่อยความรู้ทางวิชาการให้คนสงขลาเข้าใจได้โดยง่าย และอยากให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นมาตรการที่สามารถนำมาใช้ได้จริงกับพื้นที่หาดสงขลาที่จะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนและอยากให้หาดสงขลาเป็นพื้นที่แบบอย่างในการปัญหาให้หาดอื่นๆ ทั่วประเทศอีกด้วย” วันนี้กลุ่มอยู่ในระหว่างการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับกฏหมายระหว่างการดำเนินงานได้ค้นพบว่า “เราทำโครงการนี้ทำให้เป็นบทเรียนว่า ทำให้รู้ว่ากฏหมายต้องยึดโยงกับสังคมไม่สามารถแยกแก้ไขปัญหาอย่างเดียวได้”

“นี่เป็นเพียง 3 ตัวอย่างของพลเมืองเยาวชนสงขลาที่เข้าร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา จากทั้งหมด 30 กลุ่ม ซึ่งโครงการ ฯ นี้ ถือว่าเป็นโครงการสำคัญที่นำร่องใน จ.สงขลา มาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อที่จะสร้างจิตสำนึกพลเมืองและพื้นที่สาธารณะ ให้เยาวชนที่มีอายุระหว่าง14 - 24 ปี ได้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของบ้านเมืองอย่างชาญฉลาดรู้เท่าทัน โดยการนำเสนอโครงการเพื่อส่วนรวมที่เยาวชนสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง เพื่อพัฒนาจิตสำนึกความเป็นพลเมืองในชุมชนบ้านเกิด ชุมชนที่อยู่อาศัย หรือชุมชนที่ศึกษาเล่าเรียนของตน โดยมีสงขลาฟอรั่ม ซึ่งเป็นองค์กรภาคพลเมืองเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ และมีมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นองค์กรสนับสนุนเงินทุนและสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ “ อ.พรรณิภา โสตถิพันธุ์ หรือ ป้าหนู ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวทิ้งท้าย

วันนี้การเฝ้าระวัง “หาดสมิหลา” ของกลุ่มเยาวชนจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่าเยาวชนได้ลุกขึ้นมาร่วมแก้ไขปัญหาของบ้านตนเอง ตัวอย่างนี้น่าจะช่วย “ปลุกพลังเยาวชน” ทั่วประเทศ ที่บ้านของตนเองมีหาดทรายสวยๆ ได้ลุกขึ้นมาปกป้องหาดบ้าง หากเกิดกรณีแบบเดียวกันนี้..สิ่งดีงามก็จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยเพราะเยาวชนหันมาสนใจบ้านเมืองนั่นเอง

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit