ด้าน แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวเสริมว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สะเทือนจิตใจ และกระทบต่อความรู้สึก โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างกะทันหัน ซึ่งอาการปกติที่สามารถพบได้ คือ การร้องไห้ฟูมฟาย เศร้าโศกเสียใจ ที่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ผิดปกติแต่อย่างใด แต่ก็ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้ อาการที่อาจพบ เช่น 1.มีการโทษหรือตำหนิตัวเองอย่างมาก มีความรู้สึกผิดเกินจริง เสียความเชื่อมั่นในตัวเอง โทษหรือตำหนิตัวเองว่าเป็นสาเหตุให้บุคคลนั้นเสียชีวิต 2. มีความคิดหรือความตั้งใจจะฆ่าตัวตาย หรือมีการพยายามฆ่าตัวตาย 3. เคลื่อนไหวเชื่องช้าหรือกระวนกระวายใจเป็นอย่างมาก และ 4. มีความผิดปกติทางจิต เช่น มีอาการประสาทหลอน ได้ยินคนที่เสียชีวิตไปแล้วมาพูดคุยด้วยอยู่ตลอดเวลา รวมทั้ง มีอาการหลงผิด เช่น หลงผิดว่าตัวเองทำบาปกรรมในอดีต จึงถูกลงโทษ เป็นต้น
ในการดูแลจิตใจผู้สูญเสียให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้นไปได้นั้นรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะ 4 อย่า ดังนี้ 1.อย่า จมอยู่กับชีวิตตนเองคนเดียว ยอมรับความสูญเสียและอยู่กับความจริงในปัจจุบันให้ได้ แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องยากและต้องใช้ระยะเวลา 2.อย่า เก็บความรู้สึกเจ็บปวดไว้คนเดียว อาจร้องไห้ และพูดระบายความทุกข์ให้คนใกล้ชิดที่ไว้ใจรับฟังบ้าง เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย 3.อย่า โทษตนเองหรือคนอื่น เพราะไม่ได้ช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น และ 4.อย่า ดื่มเหล้าหรือเสพสารเสพติดเพื่อช่วยลืมความเจ็บปวด นอกจากนี้ ควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลรอบข้าง ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมดีๆในชุมชนหรือสังคม ซึ่งเหล่านี้จะช่วยดูแลจิตใจและลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวต่อไปได้ แต่หากไม่สามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้หรือมีอาการซึมเศร้ารุนแรง ควรรีบพบจิตแพทย์โดยทันทีเพื่อรับการดูแลรักษาที่ถูกต้องต่อไป ที่สำคัญ ญาติ และครอบครัวถือเป็นบุคคลที่จะช่วยสังเกต ดูแล เยียวยา และประคับประคองจิตใจผู้ที่ต้องประสบกับความสูญเสียให้ผ่านพ้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ ไปได้ โดยการรับฟัง ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ และไม่ตอกย้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนให้ความร่วมมือในการดูแลรักษา เช่นเดียวกับ สื่อมวลชน ที่สามารถมีส่วนร่วมในการเยียวยาจิตใจครอบครัวที่ต้องประสบกับความสูญเสียได้ โดย เลือกใช้คำถามในการสัมภาษณ์ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึก มากกว่า การใช้คำถามแบบปลายปิด หรือชี้นำ เช่น การถามว่า “โกรธหรือเกลียดคนที่ทำหรือไม่”เป็นต้น เพราะจะยิ่งเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมความรู้สึกให้แย่ลงไปอีก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit