อพท.ร่วมกับสถาบันฯสิ่งทอพัฒนาต้นแบบสิ่งทอเมืองน่านร่วมสมัย

01 Sep 2015
24-25 ส.ค.58 อพท.ร่วมกับ สถาบันฯสิ่งทอ พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเมืองน่านร่วมสมัยกว่า 30 รายการ พร้อมเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมสัมผัสเสน่ห์เมืองน่าน ลงพื้นที่ศึกษาวัฒนธรรม ณ พระธาตุแช่แห้ง สู่หัตถกรรมการทอผ้า ณ หมู่บ้านทอผ้าซาวหลวง พร้อมจัดกิจกรรมสรุปผลโครงการและเปิดตัวตราสัญลักษณ์สิ่งทอ “น่านเน้อเจ้า” แรงบันดาลใจจากกระต่ายปีนักษัตรประจำพระธาตุแช่แห้ง พบร้านสะดวกขายดีไซน์เก๋ออกแบบให้เคลื่อนย้ายได้เชื่อมโยงการเข้าถึงสินค้า รองรับการท่องเที่ยวเมืองน่านอย่างยั่งยืน และรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต ณ โรงแรมเทวราช อ.เมือง จ.น่าน
อพท.ร่วมกับสถาบันฯสิ่งทอพัฒนาต้นแบบสิ่งทอเมืองน่านร่วมสมัย

25 สิงหาคม 2558 (จังหวัดน่าน) ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ผู้จัดการสำนักงานพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นสาขาเศรษฐกิจภาคบริการที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ จังหวัดน่านถือเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2558 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน 66,543 คน ประมาณการรายได้ 199.72 ล้านบาท

นอกจากนี้เมืองน่านยังมีวัฒนธรรมซึ่งถือเป็นทรัพยากรและเป็นเสน่ห์ที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะวัฒนธรรมการผลิตผ้าพื้นเมืองซึ่งสามารถพัฒนาเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว โดยมีปัจจัยสำคัญคือ การพัฒนาสินค้าผ้าพื้นเมืองที่มีความเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของจังหวัดน่าน ให้มีคุณภาพ มีความหลากหลาย จากความสำคัญดังกล่าว อพท. จึงได้สนับสนุนให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งทอเมืองน่านเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินการปี 2557 มุ่งพัฒนาคุณภาพและสร้างความหลากหลายด้วยการเพิ่มเส้นใยธรรมชาติและเทคโนโลยีการตกแต่งสำเร็จเตรียมพร้อมสู่เชิงพาณิชย์

สำหรับปี 2558 นี้ มุ่งเน้นการต่อยอดผลิตภัณฑ์สิ่งทอสู่การบริโภคเพื่อการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ด้วยเรื่องราว (Story Telling) อัตลักษณ์ (Indentity) และเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Uniqueness) ของจังหวัดน่าน ขยายผลโดยการออกแบบให้ร่วมสมัย เชื่อมโยงเครือข่ายโซ่อุปทานธุรกิจท่องเที่ยว ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้ นักออกแบบรุ่นใหม่ รวมทั้ง วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่สามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้ากลุ่มสิ่งทอเพื่อการท่องเที่ยว สู่ต้นแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกให้เกิดความหลากหลาย กระตุ้นการรับรู้และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย รองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันได้ดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดองค์ความรู้ อาทิ ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ด้านการท่องเที่ยว ด้านการออกแบบโดยต่อยอดองค์ความรู้สู่นักออกแบบรุ่นใหม่ พัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่ม และเสริมคุณค่า โดยเน้นการออกแบบที่เหมาะสมกับยุคสมัย และการสวมใส่สบาย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้สอดคล้องกับการใช้งานในวิถีชีวิตปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าแฟชั่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก รวมกว่า 30 รายการ อาทิ เสื้อผ้าแฟชั่นเก๋ไก๋ หมอนอิง กระเป๋าสะพาย ถุงผ้า พวงกุญแจ ที่บ่งบอกถึงเรื่องราวและอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองน่าน พร้อมกระตุ้นและสร้างการยอมรับผ้าทอเมืองน่านด้วยการสร้างตราสัญลักษณ์ (Brand) "น่านเน้อเจ้า" โดยมุ่งเน้นเป็นตราสินค้าสิ่งทอประจำชุมชนและใช้ส่งเสริมด้านการตลาด

รูปแบบลักษณะตราสัญลักษณ์

โลโก้มีพระธาตุแช่แห้งสีขาวโดยด้านในพระธาตุมีกระต่ายและด้านล่างพระธาตุ มีภาษาอังกฤษคำว่า NAN โดยสามารถปรับสีให้เข้ากับการใช้งานและการออกแบบที่แตกต่าง ได้

โดยทั้งหมดนั้น ออกแบบโดยใช้แรงบันดาลใจจากกระต่าย ซึ่งเป็นปีนักษัตรประจำพระธาตุแช่แห้งนอกจากนี้ โครงการยังจัดทำร้านค้าเคลื่อนที่ หรือร้านค้าสะดวกขายดีไซน์เก๋ พร้อมอุปกรณ์ที่ออกแบบให้สามารถถอดประกอบพร้อมเคลื่อนย้ายไปทุกที่ เพื่อเชื่อมโยงการเข้าถึงสินค้าของนักท่องเที่ยว รองรับการเติบโตของภาคธุรกิจท่องเที่ยวเมืองน่าน โดยภายหลังการดำเนินงาน คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชน สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจจะเรียนรู้การทอผ้าและสืบทอดภูมิปัญญานี้ต่อไป ส่วนนักท่องเที่ยวก็เกิดความพึงพอใจในคุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต้นแบบใหม่ที่ร่วมสมัย นำไปสู่ความสมดุลทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน นางสุทธินีย์ กล่าวสรุป

ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน หรือผู้สนใจทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.เลขที่ ๕๕ ถนนมหาพรหม ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ๕๕๐๐๐

โทรศัพท์/โทรสาร ๐๕๔ ๗๗๑ ๐๗๗ email ; [email protected] / [email protected]