วันนี้ (28 ส.ค.2558) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางมาพบปะและรับทราบปัญหาการปฏิบัติงาน รวมทั้งมอบนโยบาย ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยมีผู้บริหารจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน อาทิ นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดี นายดนัย เอกกมล รองอธิบดี นายยงยุทธ จันทรโรทัย รองอธิบดี และนางสาวพัชรีพร หาญสกุล รองอธิบดี ให้การต้อนรับ นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ได้มามอบนโยบายให้แก่ พพ. นับเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งพพ. จะได้รับทราบกรอบการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน และด้านการอนุรักษ์พลังงาน ที่ขณะนี้ถือได้ว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินงานไปแล้วหลายส่วน และเป็นนโยบายหลักของกระทรวงพลังงานที่ต้องมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ความคืบหน้าสำคัญ ๆ และผลงานเด่นๆ ของพพ. ซึ่งได้รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในวันนี้ ได้แก่ ความก้าวหน้าของจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 หรือ Alternative Energy Development Plan : AEDP 2015 ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 5 แผนหลักของการพัฒนาพลังงานของประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ ด้วยราคาที่ประชาชนยอมรับ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
โครงการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ยื่นแสดงความจำนงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดินหรือโซล่าร์ฟาร์มค้างท่อ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้า โดย พพ. ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งปัจจุบัน โครงการถือว่าประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง และพบว่าสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA แล้วทั้งสิ้น 148 โครงการ กำลังผลิตทั้งหมด 843.95 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้ได้ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของโครงการ ฯ
นอกจากนี้ พพ. จะได้มีโครงการสำคัญ คือโครงการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิด Variable speed/Inverter ทดแทนของเดิมในอาคารควบคุมภาครัฐ โดยเบื้องต้น พพ. จะนำร่องเปลี่ยนเครื่องปรับอำกำศทดแทนของเดิมที่มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปี ในอาคารควบคุมภาครัฐ จำนวนรวม 50,079 เครื่อง ( 1,309 ล้านBTU) รวมทั้งผลักดันให้เกิดการยกระดับเกณฑ์ประสิทธิภาพในวงกว้างต่อไป โดยคาดว่าจะเกิดผลประหยัดรวม 165 ล้านหน่วย/ปี (14 ktoe/ปี) หรือคิดเป็นเงินประมาณ 660 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หรือCO2 ได้ประมาณ 108,917 ตัน