อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเตรียมปรับตัวเพื่อรับมือการแข่งขันในตลาดโลก โดยใช้จุดแข็งที่มีความพร้อมในทุกขั้นตอนการผลิต มีตลาดรองรับที่หลากหลาย ตั้งแต่ตลาดระดับสูงสุดไปจนถึงตลาดระดับล่าง ทำให้เริ่มมีแบรนด์ของประเทศไทยออกไปปักธงในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ ผศ.ดร. ตระหนักจิต ยุตยรรยง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและวิจัยตราสินค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีแบรนด์ของไทยประมาณ 20-30 แบรนด์ออกไปทำตลาดในอาเซียนแล้ว อาทิ Grey Hound, Fly Now ก่อนที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ปลายปีนี้ แต่ถ้ามองในความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่ออกไปทำตลาดแล้ว สินค้าของคนไทยยังเป็นรองแบรนด์ของผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าในอนาคตแบรนด์ไทยจะมีความเข้มแข็งสู้กับแบรนด์ของประเทศอื่นๆได้อย่างแน่นอน เนื่องจากภาพลักษณ์สินค้าไทยมีดีไซน์ที่หลากหลาย มีคุณภาพในการตัดเย็บ และผู้บริโภคในอาเซียน โดยเฉพาะพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนามต่างให้ความเชื่อมั่นในสินค้าไทย จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งในระดับต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ มีความคิดสร้างสรรค์ มีตลาดภายในประเทศทุกระดับตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับบน จึงมีโอกาสในการพัฒนาและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลก อาจส่งผลให้การส่งออกของ
แบรนด์แฟชั่นไทยมีปัญหาอยู่บ้างแต่น่าจะเป็นปัญหาในระยะสั้น อย่างไรก็ตามภาครัฐพัฒนาส่งเสริมด้านการสร้างนักออกแบบและนักธุรกิจหน้าใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องของการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบ การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและในระดับโลก สำหรับในประเทศไทยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างตราสินค้ากันมากขึ้น และมีการรวมกลุ่มสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพ (Bangkok Fashion Society : BFS) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนวงการแฟชั่นไทยมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านแฟชั่นที่ตลอดจนจัดการแสดงแฟชั่นสู่สายตาสาธรณชนสม่ำเสมอ จนมีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและในระดับโลกหลายแบรนด์ด้วยกัน อาทิ BOUDOIR ,GOOD-MIXER, GREY,ISSUE, SARIT, GREYHOUNDเป็นต้น โดยแต่ละแบรนด์ก็ได้มีการสร้างเอกลักษณ์ (Brand Identity) กำหนดบุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality) และการสื่อสารแบรนด์ (Brand Communication) ได้อย่างน่าสนใจ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีจำนวนผู้บริโภคไม่น้อยที่มักจะเปรียบเทียบสินค้าแฟชั่นแบรนด์ไทย กับแบรนด์ต่างชาติในด้านคุณภาพและภาพลักษณ์ตราสินค้า (Brand Image) ที่ผู้บริโภคมักจะยึดติดและมองเห็นคุณค่าแบรนด์ต่างประเทศเหนือกว่าแบรนด์ไทยเสมอ