นายลอย จุน ฮาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดไมซ์มีการขยายตัวค่อนข้างสูง และประเทศไทยเองมีศักยภาพในการจัดงานขนาดใหญ่ได้มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอดคล้องกับข้อมูลของทีเส็บที่วางเป้าหมายให้เมืองไทยเป็นจุดมุ่งหมายของการจัดงานอันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่งประเทศในกลุ่มสมาชิกจะให้ความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ให้มีศักยภาพในการแข่งขันและสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้ากิจกรรมไมซ์จากฝั่งยุโรปและอเมริกาให้มากขึ้น โดยเฉพาะที่ศูนย์แสดงสินค้าและประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี นั้น ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานต่างๆ ทั้งงานแสดงสินค้า นิทรรศการ งานประชุม สัมมนา งานเลี้ยงสังสรรค์ งานมงคลสมรส คอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา และกิจกรรมพิเศษอื่นๆ มากกว่า 1,000 งานต่อปี มีผู้เดินทางมาชมงานมากกว่า 15 ล้านคนต่อปีทั้งในไทยและจากต่างประเทศ ทำให้ความต้องการบุคลากรมีมากตามไปด้วย ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนาความสามารถในการทำงานและภาษาเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับนานาประเทศได้
"ที่ผ่านมาเราพบว่าประเทศไทยยังขาดความพร้อมกับโอกาสนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไมซ์เฉพาะทางและความสามารถด้านภาษาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ เราจึงได้ริเริ่มแนวคิดที่จะพัฒนาบุคลากรของเราเอง ในแบบฉบับเฉพาะตามที่ตลาดไมซ์ต้องการเพื่ออุดช่องโหว่ของปัญหากลยุทธ์ Local Partnership Strategy ถูกนำมาใช้ด้วยการมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อรุกตลาดและสร้างความได้เปรียบในตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงอย่างไมซ์ เราทำการคัดเลือกหลากหลายมหาวิทยาลัยทั้งของภาครัฐและเอกชน และเราพบว่ามหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในด้านการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติได้มากที่สุด
สืบเนื่องจากหนึ่งในปณิธานของมหาวิทยาลัยที่ชัดเจน คือ การผลิตบัณฑิตคุณภาพที่มีความสามารถพร้อมปฏิบัติงาน มีความเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษ ภายใต้สังคมการเรียนรู้นานาชาติที่แวดล้อมด้วยนักศึกษาและคณาจารย์ชาวต่างชาติอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้คือบุคลากรในอุดมคติที่เราต้องการพัฒนา การร่วมเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพของอิมแพ็คในการผลิตบุคลากรไมซ์คุณภาพ อันจะเป็นการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ และยังช่วยลดต้นทุนรวมถึงเวลาด้านการสอนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ที่จะทำให้เหนือคู่แข่งด้วยข้อได้เปรียบของมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดที่นำเสนอหลักสูตรอินเตอร์ทำให้บัณฑิตจบใหม่ที่ในอนาคตอาจเป็นหนึ่งในบุคลากรของอิมแพ็คสามารถแทรกเข้าไปในตลาดเป้าหมายอย่างตลาดต่างประเทศที่ต้องการได้ง่ายขึ้นอีกด้วย"
นาย จิลลส์ คลอเด เบอร์นาด มาเฮ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Laureate International Universities ประเทศไทย เผยว่า "เรามีทิศทางการพัฒนาบัณฑิตที่ชัดเจน จากการศึกษาของนักวิชาการของมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด เรื่อง แนวโน้มการจ้างงานในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนผ่านการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศพบว่า 3 ปัจจัยแรกที่มีผลต่อการจ้างงานมากที่สุด คือ ทักษะการทำงานหรือประสบการณ์ตรงของบัณฑิตจบใหม่ที่เคยฝึกงานที่ตรงกับสายงานที่จะสมัครมาก่อน และข้อที่สำคัญถัดมา คือความสามารถด้านภาษาอังกฤษ คือ ปัจจัยสำคัญสูงที่สุด ที่มีผลต่อการพิจารณารับบัณฑิตจบใหม่เข้าทำงานในองค์กรชั้นนำในปัจจุบัน และลำดับสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ นักศึกษาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำงานอันจะนำมาซึ่งการทำงานที่ราบรื่น
ทั้งนี้ จะเห็นว่า 3 ปัจจัยนี้ถูกนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นหลักสูตรต่างๆ ของมหาวิทยาลัยการร่วมมือกับอิมแพ็คในการพัฒนาหลักสูตรถือเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้อย่างลงตัว กล่าวคือหลักสูตร Event Management เป็นหลักสูตรแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ภาคเอกชนผู้ที่มีความชำนาญในการจัดงานอย่างอิมแพ็คลงมาพัฒนาหลักสูตรด้วยตัวเอง หลักสูตรนี้จึงเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของบัณฑิตจบใหม่และลดช่องว่างของการขาดประสบการณ์การทำงานของบัณฑิตปริญญาตรีด้านอุตสาหกรรมไมซ์ ด้วยการเสริมโครงการฝึกงานจริงร่วมกับอิมแพ็ค ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมไมซ์ ที่สามารถให้มุมมองเชิงลึกในการทำงาน
ตลอดจนความร่วมมือต่างๆ ที่นักศึกษาจะได้รับเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ในการทำงานจริงๆ แบบเข้มข้นตลอดหลักสูตรและจุดแข็งของมหาวิทยาลัยในด้านภาษา กอปรกับการที่นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ใน สังคมแบบ Multicultural Environment ตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ดนั้น สามารถตอบโจทย์การทำงานในยุคของประชาคมอาเซียนได้อย่างลงตัว ในยุคนี้หลายๆบริษัทไม่เพียงต้องการบัณฑิตที่มีความสามารถในด้านการทำงานและภาษาเท่านั้น แต่ยังต้องการบุคลลากรที่มี International Mindset คือกล้าคิดกล้าทำกล้าพูดอย่างสร้างสรรค์ และสามารถทำงานร่วมกับ คนหลากหลายสัญชาติได้
อิมแพ็ค เป็นบริษัทระดับประเทศที่จัดงานใหญ่ระดับนานาชาติหลายครั้ง และทุกๆ ครั้งก็มีการทำงานร่วมกับชาวต่างชาติมากมาย สิ่งหนึ่งที่ อิมแพ็ค ย้ำเสมอสำหรับการคัดเลือกบุคลากร คือ ไม่เพียงแต่ต้องการคนเก่งที่มีประสบการณ์เท่านั้น แต่ยังต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และรู้จักการทำงานร่วมกับคนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมได้อีกด้วย ความสำเร็จของแสตมฟอร์ดที่ผ่านมาจากการร่วมเป็นพันธมิตรกับหลากหลายบริษัทชั้นนำนั้นพบว่าบริษัทเหล่านั้นรับนักศึกษาของเราเข้าทำงานตั้งแต่ก่อนเรียนจบ เพราะถูกใจความสามารถด้านภาษาที่โดดเด่นและที่สำคัญนักศึกษาของแสตมฟอร์ดมีแนวคิดเชิงลึกที่สร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ที่สามารถตอบโจทย์และมีส่วนช่วยเหลือพัฒนาองค์กรได้มาก เพราะได้รับการเทรนจากมืออาชีพในสาขานั้นๆ อย่างแท้จริง ทั้งหมดนี้ คือ หนึ่งในกลยุทธ์ของแสตมฟอร์ดในเรื่องของความเข้มแข็งทางเครือข่ายทางธุรกิจ ที่สามารถนำมืออาชีพที่หาตัวจับยากในด้านต่างๆ มาสอนมุมมองแนวคิดที่ทันสมัยและตอบโจทย์ให้กับนักศึกษารวมทั้งสร้างเครือข่ายอาชีพตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
นางนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เปิดเผยว่า ทีเส็บในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดงานกิจกรรมทางธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงานกิจกรรมทางธุรกิจไมซ์ที่โดดเด่นเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีแนวคิดที่จะพัฒนาหลักสูตรปั้นบุคลากรไมซ์ที่มีคุณภาพและมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ แต่ที่ผ่านมาไม่มีสถาบันไหนที่มอบหลักสูตร Event Management ภาคภาษาอังกฤษที่สามารถยกระดับคุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้ จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีและเป็นครั้งแรกในไทยที่ภาคเอกชนอย่าง อิมแพ็ค ยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมไมซ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร Event Management โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติอย่าง มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ที่โดดเด่นในด้านการศึกษา และภาษาอังกฤษ เราเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้ ไทยเราจะสามารถผลิตบัณฑิตคุณภาพด้านไมซ์ที่มีความสามารถทางภาษารองรับกับตลาดไมซ์ที่กำลังเติบโตได้เป็นจำนวนมาก โดยที่ผ่านมาทีเส็บได้ดำเนินงานส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์โดยผลักดันให้ผู้จัดงานต่างชาติเข้ามาจัดงานในไทย โดยสิ้นปี 2558 คาดว่าประเทศไทยจะมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์จำนวนกว่า 1.03 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 1.06 แสนล้านบาทให้แก่เศรษฐกิจประเทศไทย ด้วยแนวโน้มตลาดขาขึ้นกอปรกับไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน แต่ไทยยังขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญทางด้านงานไมซ์ ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนมีความต้องการให้รัฐและสถาบันการศึกษามีการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ โดยเฉพาะเรื่องของภาษาอังกฤษที่เป็นตัวกลางสำคัญของการสื่อสารทางธุรกิจ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit