นายปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน Adman Awards & Symposium 2015 กล่าวถึงสถานการณ์ของวงการโฆษณาไทยว่า "หลังจากที่โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลนั้นได้ส่งผลกระทบในทุกๆ ด้าน รวมไปถึงพฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้บริโภคด้วย ในปัจจุบันผู้บริโภคมีโอกาสได้ "เลือก" บริโภคสื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายได้เอง ทุกอย่างหาดูได้ง่ายขึ้น แต่การทำโฆษณาดีๆ สักชิ้นให้เป็นที่จดจำดูเหมือนจะยากขึ้น อาชีพนักโฆษณาไม่ใช่อาชีพที่ทุกคนใฝ่ฝันอีกต่อไป คนรุ่นใหม่อาจจะอยากแค่เป็นเจ้าของธุรกิจออนไลน์เพราะได้มีอิสระทางความคิดและมีเวลาท่องเที่ยวในแบบที่ชอบ มันทำให้เห็นว่าไม่ใช่แค่คนในแวดวงโฆษณาเองที่ไม่เห็นคุณค่าในผลงานที่ตนเองทำ แต่คนรุ่นหลังๆ เองก็ไม่มีความสนใจและไม่เข้าใจคุณค่าของงานโฆษณาเลย ประกอบกับแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ หันมามองว่าการโฆษณาคือการบริหารงบประมาณที่สิ้นเปลืองและไม่มีประสิทธิภาพ งบโฆษณาได้ถูกนำไปวางแผนกระจายการทำตลาดในช่องทางใหม่ๆ ที่ทั้งหลากหลาย ซึ่งเข้าถึงและทันต่อเหตุการณ์มากกว่าเดิม นอกจากนี้ ผลงานโฆษณาดีๆ ในเมืองไทยที่ส่งไปล่ารางวัลจากเวทีการประกวดระดับโลกก็ไม่มีอะไรที่น่าสนใจเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เอกลักษณ์เฉพาะตัวของโฆษณาไทยยังคงอยู่"
ปีนี้ Adman Awards & Symposium 2015 จึงเปิดตัวพร้อมกับธีม "พรูฟ เด็ม รอง (PROVE THEM WRONG) ซึ่งประธานคณะกรรมการตัดสินงานประกวด Adman Awards & Symposium 2015 นางสาวจุรีพร ไทยดำรงค์ เปิดเผยถึงที่มาที่ไปว่า "พรูฟ เด็ม รอง เกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป บ่อยครั้งเมื่อเห็นโฆษณาบนยูทูปพวกเขาจะกดข้ามโฆษณา (SKIP) ทันที หรือเมื่อมีโฆษณามาคั่นละครเขาก็มักจะเปลี่ยนช่อง โฆษณากลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครู้สึกว่าตัวเองถูกยัดเยียด พูดง่ายๆ ว่า เราเดินทางมาถึงจุดที่คน "เกลียด" โฆษณา พรูฟ เด็ม รอง เกิดเพื่อกระตุ้นแรงศรัทธาของคนที่ทำโฆษณาให้เชื่อในคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองทำ พร้อมพิสูจน์ให้ผู้คนเห็นว่าเราสร้างสรรค์โฆษณาที่มีประโยชน์ต่อคน ต่อสังคม ต่อบ้านเมือง เปลี่ยนความเข้าใจทุกคน ว่าโฆษณาไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อแต่เป็นการสะท้อนแง่มุมหลากหลายด้านของคนและสังคม ในแต่ละยุคสมัย"
"เรากำลังจะปลุกคนในวงการโฆษณา ให้ตื่นขึ้นมารับรู้และเข้าใจว่าการที่จะทำโฆษณาดีๆ สักชิ้นในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและมีความเข้าใจ เพราะขั้นตอนในการคิดและทำมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม กระบวนการคิดงานโฆษณาที่มีคุณค่าในปัจจุบันนั้นไม่มีรูปแบบตายตัว ซึ่งถ้าเทียบกันแล้วในสมัยก่อนนั้นมีความเรียบง่ายกว่ามาก โฆษณาที่ดีในสมัยนี้มีไอเดียดีอย่างเดียวไม่พอ แต่ยังต้องทำให้แบรนด์มีจุดยืนที่มั่นคงในตลาด ประสบความสำเร็จในระยะยาว ช่วยแก้ปัญหาของแบรนด์ได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญต้องรู้สึกใส่ใจสังคมและความรู้สึกของผู้บริโภค" นางสาวจุรีพรกล่าวพร้อมเสริมว่า "ปีนี้การประกวดยังได้เพิ่มประเภทรางวัลอีก 1 ประเภทนั่นก็คือInnovative Idea ซึ่งก็คือไอเดียที่นำไปสู่นวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ที่มีการนำไปใช้จริง โดยจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า สิ่งประดิษฐ์ หรือเทคโนโลยี ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และไอเดียและนวัตกรรมนั้นต้องสามารถแก้ปัญหาให้กับแบรนด์ ผู้บริโภค หรือองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Business Solution)"
นอกจากการประกวดผลงานโฆษณาแล้ว แอดแมนฯ ยังขยายความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม ทั้งสัมมนาเชิงวิชาการที่จัดร่วมกับนิตยสาร BrandAge สัมมนากลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมเป็นเจ้าภาพ ในหัวข้อ "ถนนคนโฆษณา เส้นทางนอกตำรา" นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมกับสาธารณชนโดยร่วมกับสื่อออนไลน์อย่าง Brand Buffet ดำเนินการโหวตให้คะแนน "รางวัลโฆษณาขวัญใจมหาชน" และยังมีสื่อพันธมิตรอื่นๆ ที่ช่วยประชาสัมพันธ์งานนี้ ประกอบด้วย Marketing Oops!! PPTV True Corp และZocial Inc.
นางสาวอ่อนอุษากล่าวถึงภาพรวมของวงการโฆษณาไทยปี 2558 ว่า "คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 7-8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่ารวมประมาณ 125,000 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวของโฆษณา ได้แก่ กลุ่มธุรกิจยานยนต์ กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มโทรศัพท์มือถือและการสื่อสาร และโครงการภาครัฐ ปัจจัยสำคัญมาจากหลายส่วน มีทั้งในเรื่องของ การใช้จ่ายผ่านสื่อด้านดิจิตัลทีวีและสื่ออินเตอร์เนทที่เพิ่มมากขึ้น และเรื่องของการโปรโมชั่นในธุรกิจยานยนต์ อีกทั้งธุรกิจกลุ่มโทรศัพท์มือถือและการสื่อสารที่กำลังมุ่งสู่โครงข่ายการสื่อสารแบบ 4G รวมถึงการเปิดตัวสินค้าไอทีจากแบรนด์ต่างๆ "ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลการประกวดงาน Adman Awards & Symposium 2015 จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ศกนี้ ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit