ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกษรา เล่าว่า จากการศึกษาวิจัยเรื่อง "การศึกษาคุณค่าของข้าวไรซ์เบอรี่" ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นทางด้านโภชนาการสูง และมีการกล่าวถึงในแวดวงของผู้รักสุขภาพจนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นข้าวธัญพืชเพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดประเภทหนึ่ง จึงเลือกนำมาเป็นส่วนผสมหลักของอาหาร เพื่อถ่ายทอดให้กับสมาชิกชุมชนหมู่บ้านฟ้ารังสิต ด้วยเมนูที่ชื่อว่า "ข้าวตังไรซ์เบอรี่"
อุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการทำข้าวตัง คือ แม่พิมพ์ข้าวตัง (ลักษณะคล้ายพิมพ์ขนมทองม้วน) เตาไฟฟ้า (อาจใช้เตาถ่านหรือเตาแก๊สก็ได้) เครื่องปั่นน้ำผลไม้ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องครัวต่างๆ ที่หยิบฉวยจากในครัวตามที่ต้องการ และเตรียมส่วนผสมสำคัญตามสูตร คือ ข้าวไรซ์เบอรี่ 160 กรัม และน้ำสะอาด 1,120 กรัม
"ขั้นตอนการทำ เริ่มจากซาวหรือล้างข้าวให้สะอาด เทน้ำออกใส่กะชอนพักไว้ จากนั้นนำข้าวไรซ์ เบอรี่ใส่หม้อขนาดปานกลาง ใส่น้ำที่ตวงไว้ ตั้งไฟปานกลาง คอยคนอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ข้าวไหม้ติดก้นหม้อ โดยใช้เวลาต้มประมาณ 45 นาที จนกว่าข้าวจะสุกเหนียวคล้ายกับแป้งเปียก แล้วจึงยกลงตั้งพักไว้ให้เย็น แล้วนำมาปั่นให้ละเอียด ต่อจากนั้นเตรียมแม่พิมพ์ข้าวตัง ตั้งอุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส รอให้พิมพ์ร้อน ใช้ช้อนตักข้าวที่ปั่นละเอียดแล้วปริมาณ 15 กรัม หยอดใส่กลางพิมพ์ แล้วค่อย ๆ ปิดแม่พิมพ์อีกด้านหนึ่งลงทับข้าวให้แบน ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที ข้าวตังก็จะสุก ใช้เกรียงแซะขึ้นจากแม่พิมพ์ เพียงเท่านี้ก็จะได้ข้าวตังไรซ์เบอรี่ เคล็ดลับเพิ่มความอร่อยและคุณค่าทางโภชนาการที่มากขึ้นของข้าวตังไรซ์เบอรี่ อาจใส่น้ำพริกเผาและเกสรบัวหลวง (แบบแห้ง) ลงไปปั่นพร้อมกับข้าวไรซ์เบอรี่ ก็จะได้ข้าวตังที่หอม อร่อยและมีรสชาติมากยิ่งขึ้น" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกษรา กล่าว
สุดตา จำปาน้อย อายุ 64 ปี สมาชิกชุมชนหมู่บ้านฟ้ารังสิต กล่าวว่า การได้มาเข้าร่วมอบรม ทำให้ได้สูตรอาหารใหม่ ๆ ที่มีการคิดค้น พลิกแพลง ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ได้เทคนิคการทำอาหาร และจะนำสูตรข้าวตังนี้ไปลองทำที่บ้าน เพราะขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นาน และมีคุณค่าต่อร่างกายเพียงแต่ต้องมีอุปกรณ์
ด้าน นุชริน พู่กัน อายุ 44 ปี สมาชิกชุมชนหมู่บ้านฟ้ารังสิต กล่าวว่า โครงการอบรมนี้มีประโยชน์อย่างมาก นอกจากการได้เพื่อน ได้สังคมจากการรวมกลุ่มสมาชิกแล้ว ยังได้รับความรู้ด้านการทำอาหาร ขนมใหม่ ๆ ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าการตลาด และเป็นแนวทางในการพัฒนาการรวมกลุ่มสมาชิก เสริมสร้างอาชีพ อันก่อให้เกิดรายได้ต่อไป นอกจากนี้อาจารย์ยังแนะนำการขายและการบรรจุข้าวตังให้ดูสวยงาม นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
อีกมุมหนึ่ง "หญิง" ชไมพร ภูมิไสล นักศึกษาสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ชั้นปีที่ 2 ที่ร่วมโครงการ เผยว่า เป็นช่วงปิดเทอมพอดี ตนจึงขออาสาเข้ามาช่วยงานอาจารย์ในโครงการ เช่น การเตรียมส่วนผสมต่าง ๆ ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบริการวิชาการต่อชุมชน จากความรู้ที่ตนได้ร่ำเรียนมา และเห็นว่าเรื่องราวของอาหารจำเป็นต้องคิดค้น พัฒนาสูตรใหม่ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับผู้บริโภคและกระแสสังคมในปัจจุบัน
ขณะที่นักศึกษาสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ชั้นปีที่ 2 ที่ร่วมโครงการอีกคน อย่าง "กบ" ชยพล ยิงเวียงเห็นว่า เมนูข้าวตังไรซ์เบอรี่ เป็นเมนูที่น่าสนใจ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นการคิดค้นตามหลักวิชาอาหารและโภชนาการ ที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ อาชีพและรายได้ "ดีใจ ที่ได้มาช่วยอาจารย์ในการดูแลและถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิกในชุมชนหมู่บ้านฟ้ารังสิต"
นอกจากจะได้รับความรู้แล้ว โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีงานวิจัยสู่ชุมชนนี้ ยังก่อให้เกิดไอเดียในการพัฒนาต่อยอดการทำอาหารและขนมให้กับคนในชุมชนต่อไป หากใครสนใจหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เกษรา มานันตพงศ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม โทร.02 549 3161
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit