ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐเป็นประจำคงเคยประสบปัญหาเดียวกันที่เจอเกือบทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล นั่นคือระยะเวลาในการรอรับยาที่ยาวนาน เนื่องจากคนไข้จำนวนมหาศาลต่อวัน อีกทั้งเภสัชกรที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจัดยาจำนวนไม่น้อยสำหรับคนไข้แต่ละคน จึงเกิดการพัฒนา B-Hive1 หรือ "หุ่นยนต์ลำเลียงยาอัตโนมัติ" ขึ้นโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด
ดร.ปราการเกียรติ ยังคง จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. เปิดเผยว่า ระบบจ่ายยาอัตโนมัติเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศแต่เหตุผลที่ต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่ ก็เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริการสุขภาพให้รองรับกับบริบทของสังคมประเทศไทย B-Hive1 จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ที่มาจากเอกชน อุตสาหกรรม หรือสังคมอย่างแท้จริงตามวิสัยทัศน์ของ มจธ.
"โจทย์เราคือข้อจำกัดที่ว่าจำนวนเภสัชกรไม่สัมพันธ์กับจำนวนคนไข้ ความรวดเร็วในการจ่ายยา รวมถึงข้อจำกัดด้านพื้นที่การปฏิบัติงาน และเรามองว่าเทรนด์ของระบบอัตโนมัติกำลังมาซึ่งไม่ใช่แค่งานด้านการแพทย์แต่ตอนนี้ใครก็อยากได้ระบบอัตโนมัติไปใช้ ในฐานะมหาวิทยาลัยเราจึงใช้โอกาสนี้ในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ สร้างทีมนักศึกษา เป็นการพัฒนาคนเพื่อมาร่วมสร้างองค์ความรู้ สร้างทีมผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่หรือ Technopreneur ที่เข้าใจโจทย์และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างลงตัวโดยมี B-Hive1 เป็นผลลัพธ์"ซึ่ง ดร.ปราการเกียรติ กล่าวต่อว่า หลักการทำงานของ B-Hive1 แบ่งเป็น 2 ด้านสำคัญ คือด้าน Input มีลักษณะเป็นช่องสำหรับบรรจุยาที่ออกแบบเป็นแมกกาซีนที่สามารถดึงออกมาเติมยาได้โดยไม่ต้องรอให้ยาหมด แต่ถ้ายาใกล้จะหมดเครื่องก็ถูกออกแบบให้มีสัญญาณไฟเตือน ส่วนอีกด้านของเครื่องทำหน้าที่ปล่อยยาลงบนสายพาน เริ่มที่การคีย์ใบสั่งยาจากแพทย์เข้าสู่ระบบ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะอยู่ในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล จากนั้นซอฟแวร์จะทำการประมวลผลว่ามีคำสั่งถึงยาตัวใดบ้างที่อยู่ในเครื่อง B-Hive1 โดยที่ B-Hive1 จะถูกสั่งให้จำว่าแต่ละช่องเก็บยาตัวใดไว้ เมื่อได้รับคำสั่งจากใบสั่งยา B-Hive1 จะดีดยาตัวนั้นๆ ออกจากช่องพร้อมๆ กันลงบนสายพานลำเลียง ด้วยเร็วประมาณ 20 วินาทีต่อใบสั่งยา หรือไม่น้อยกว่า 150 ใบสั่งยาต่อชั่วโมง จึงช่วยประหยัดเวลาไปได้มากและมีความแม่นยำ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบตรวจสอบความถูกต้องของยาที่ B-Hive1 จัดออกมาและเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องติดฉลากยาที่ระบุชื่อยา ชื่อคนไข้ และขนาดการใช้ก่อนจะลงสู่ตะกร้าและส่งต่อให้เป็นหน้าที่ของเภสัชกรเป็นผู้แนะนำวิธีใช้ยาให้แก่คนไข้ต่อไป
ทั้งนี้หุ่นยนต์ลำเลียงยาอัตโนมัติ B-Hive1 ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาทดแทนเภสัชกร แต่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับงานในส่วนที่ควรทำน้อยกว่าอย่างการจัดยา เพื่อให้เภสัชกรมีเวลาเพิ่มขึ้นในการใช้ความเชี่ยวชาญด้านยาให้เกิดประโยชน์กับคนไข้ เพิ่มเติมเวลาในการพูดคุยแนะนำข้อมูลด้านยากับคนไข้ได้มากขึ้นกว่าเดิม
ดร.ปราการเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าโครงการพัฒนา B-Hive อยู่ในระหว่างขั้นตอนการจดสิทธิบัตร ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไปจนถึง B-Hive9 โดยในส่วนของ B-Hive1 นี้สามารถจ่ายยาที่เป็นกล่องและขวดพลาสติกสีชาที่บรรจุยาชนิดต่างๆ เท่านั้น แต่ในสเต็ปต่อไป B-Hive จะสามารถจ่ายยาขวดแก้ว ยาแผง ยาเม็ด ยาน้ำ ยาที่มาในรูปแบบเข็มฉีดยา ตลอดจนสามารถผสมยาที่มีฤทธิ์รุนแรงต่างๆ ได้ด้วย เพื่อให้ตอบโจทย์งานบริการทางด้านสุขภาพได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น
"เรื่องของความเร็วของหุ่นยนต์ลำเลียงยาอัตโนมัติที่เราพัฒนาขึ้นตอนนี้ผลลัพธ์ชนโจทย์ระดับโลก เพราะเราศึกษาข้อด้อยของต่างประเทศ แต่หากมีใครที่เริ่มพัฒนาขึ้นหลังจากเรา เค้าก็จะศึกษาข้อด้อยของเราและน่าทำออกมาได้ดีกว่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการจดสิทธิบัตร และพัฒนาเทคโนโลยีให้ใหม่อยู่เสมอ ควบคู่ไปกับการพัฒนานักศึกษา พัฒนาทีมให้เท่าทันกระแสเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์สังคมได้อย่างแท้จริง"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit