จากปัญหาการกำจัดโฟมและน้ำมันเครื่องใช้แล้ว ได้จุดประกายให้อาจารย์ณัฐชา เพ็ชร์ยิ้ม จากภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และอาจารย์รินลดา สิริแสงสว่าง ซึ่งเป็นผู้วิจัยร่วม พร้อมด้วยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ นายวันเฉลิม พรพิเชษฐ์ และ น.ส.ชลิตา ไม้เกตุ ร่วมศึกษาวิจัย โดยการนำมาผ่านกระบวนการให้ความร้อนสูงและใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา ภายใต้สภาวะบรรยากาศไนโตรเจน จนได้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงไพโรไลซิส ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ ซึ่งในทางวิชาการเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า "กระบวนการไพโรไลซิส"
"งานวิจัยนี้ศึกษาการไพโรไลซิสร่วมระหว่างน้ำมันเครื่องใช้แล้วกับขยะพลาสติกพอลิสไตรีน ซึ่งได้จากภาชนะโฟม เช่น กล่องข้าว ถ้วย ถาดโฟม โดยมีการศึกษาสัดส่วนผสมโดยน้ำหนักของน้ำมันเครื่องใช้แล้วกับโฟมและใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา คือ ซีโอไลต์ ที่ผ่านการเผากระตุ้นที่อุณหภูมิ 400 องศาเซลเซียส เพื่อให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ามาตรฐานน้ำมันดีเซล" อาจารย์ณัฐชา กล่าวนายวันเฉลิม เผยว่า วิธีการศึกษาและวิจัย มี 2 ส่วน ส่วนแรกศึกษาอุณหภูมิที่เหมาะสมในการไพโรไลซิสร่วมระหว่างน้ำมันเครื่องใช้แล้วกับโฟม โดยนำตัวอย่างน้ำมันเครื่องใช้แล้วและโฟมมา อย่างละ 10 มิลลิกรัม นำไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักของสารโดยอาศัยคุณสมบัติทางความร้อน (TGA) นำข้อมูลมาสร้างกราฟระหว่างอุณหภูมิกับร้อยละของสารที่สลายตัวสูงสุดและอุณหภูมิสุดท้ายที่สลายตัวของตัวอย่างแต่ละชนิด อุณหภูมิที่เหมาะสมในการไพโรไลซิสร่วมจะพิจารณาจากอุณหภูมิสูงสุดของวัสดุที่นำมาไพโรไลซิส วัสดุไหนมีอุณหภูมิสูงกว่าให้เลือกอุณหภูมินั้นเป็นอุณหภูมิสุดท้ายในการไพโรไลซิส
"ส่วนที่สอง ศึกษาการไพโรไลซิสร่วมระหว่างน้ำมันเครื่องใช้แล้วกับโฟมที่อัตราส่วนต่าง ๆ โดยเริ่มจากไล่น้ำจากน้ำมันเครื่องใช้แล้วโดยให้ความร้อนที่ อุณหภูมิ 110 องศาเซลเซียส และกวนด้วยความเร็ว 200 รอบต่อนาที นาน 1 ชั่วโมง และนำตัวเร่งปฏิกิริยาซีโอไลต์ มาเผากระตุ้นที่อุณหภูมิ 400 องศาเซลเซียส นำแผ่นโฟมตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปใส่เครื่องปฏิกรณ์ ป้อนน้ำมันเครื่องที่ไล่น้ำแล้ว ผสมกับโฟมในอัตราส่วนร้อยละ 50:50 โดยน้ำหนัก แล้วเติมตัวเร่งปฏิกิริยาปริมาณร้อยละ 0.5 ของน้ำหนักวัตถุดิบ ทำการไพโรไลซิสภายใต้บรรยากาศไนโตรเจน ที่ความดันบรรยากาศ ตั้งอุณหภูมิที่ชุดควบคุมที่ 440 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 2 ชั่วโมง แล้วจึงปิดชุดให้ความร้อน บันทึกน้ำหนักของน้ำมันไพโรไลซิส , กากของแข็ง และก๊าซ ที่ได้จากการทดลอง นำไปคำนวณผลที่ได้ แล้วจึงทำการทดลองซ้ำ โดยเปลี่ยนอัตราส่วนของน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วร่วมกับโฟมเป็น 100:0, 75:25, 40:60, 25:75, 50:50, 60:40 และ 0:100ตามลำดับ และนำน้ำมันที่ไพโรไลซิสได้มาทดสอบคุณสมบัติ ทั้งจุดวาบไฟ ความหนืด ความถ่วงจำเพาะ ค่าสี และค่าการกลั่น แล้วนำผลไปเทียบกับค่ามาตรฐานของน้ำมันดีเซลที่กรมธุรกิจพลังงานประกาศไว้"นายวันเฉลิม กล่าว
"การไพโรไลซิสร่วมระหว่างน้ำมันเครื่องใช้แล้วกับโฟม เพื่อให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อลดปริมาณขยะ และยังได้พลังงานทดแทนกลับมาใช้ประโยชน์ สามารถช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะของภาครัฐ ลดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาพลังงานที่ไม่เพียงพอในปัจจุบันได้ ขณะนี้หน่วยวิจัยด้านวิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ ได้รับทุนวิจัยสำหรับขยายผลการทดลองที่ประสบความสำเร็จจากระดับห้องปฏิบัติการ มาสู่ระดับโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ผู้สนใจสามารถขอรับข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 081 614 5677" อาจารย์ณัฐชา กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit