ด้วยจำนวนผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ทั่วประเทศไทย ซึ่งมีมากกว่า ร้อยละ 95 จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คือหนึ่งในธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้จำนวนมากเข้าสู่ท้องถิ่น พร้อมกันนี้ยังถือเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ที่ช่วยกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับคนในชุมชนอีกช่องทางหนึ่ง แต่ด้วยจำนวนผู้ประกอบการที่มีมากถึง 2.7 ล้านราย ทำให้การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้มีความแปลกใหม่ แต่คงไว้ซึ่งจุดเด่นและเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการไทยไม่อาจหยุดนิ่ง ในการพัฒนาต่อยอดและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นจุดขายและเสน่ห์ดึงดูดผู้บริโภคให้เลือกซื้อสินค้า ทั้งในแง่ของคุณภาพ ดีไซน์ และฟังก์ชั่นการใช้งาน ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
Mr. Bennett Matthew Ronald David กรรมการผู้จัดการ Bennett Apparel Group ผู้สั่งซื้อสินค้าไทยส่งออกไปยังออสเตรเลียและทั่วโลก ซึ่งมีประสบการณ์สั่งซื้อสินค้าในประเทศต่างๆ ส่งออกไปขายทั่วโลกมาอย่างยาวนาน มองว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย มีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมไปถึงวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาผลิตก็ค่อนข้างมีคุณภาพ จากการเดินทางมาร่วมเป็นหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำผู้ประกอบการOTOP/SMEs พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งจัดโดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ทำให้เห็นสินค้าและผลิตภัณฑ์มากมายที่มีศักยภาพส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสปาและความงาม เช่น สบู่ผสมสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวต่างชาติ แต่ในแง่ของรูปลักษณ์และบรรจุภัณฑ์นั้น จำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงให้สวยงามและทันสมัยมากขึ้น หากต้องการส่งสินค้าออกไปแข่งขันในตลาดโลก
หากผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ไทย ต้องการผันตัวเข้าสู่ตลาดส่งออก สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยเริ่มจากตัวผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการผลิตให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับเดียวกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปราการด่านสำคัญที่ผู้ซื้อจะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือไม่ ขณะเดียวกันการสื่อสารและนำเสนอจุดเด่นของสินค้า ต่อตัวแทนผู้ซื้อผู้กระจายสินค้าและต่อตัวผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่นำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน เพราะจุดเริ่มต้นของความสำเร็จของผู้ประกอบการ กฎข้อแรกคือต้องหาโอกาสเข้าใกล้ลูกค้าให้ได้มากที่สุด ต้องกล้าที่จะพูดคุยสื่อสารนำเสนอจุดขายสินค้า เพื่อแสดงความจริงใจแก่ผู้บริโภคทั้งในกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ และต้องไม่ย่อท้อหรือยอมแพ้ง่ายๆ หากการนำเสนอสินค้าในครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ ในทางกลับกันต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสให้ได้ โดยถามกลับไปเลยว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ควรต้องพัฒนาปรับปรุงอะไรบ้าง จากนั้นนำเอาคำแนะนำและคำติชมทั้งหลายกลับไปพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิม
"คุณสมบัติของผู้ที่จะประสบความสำเร็จคือความกล้า กล้าที่จะเดินเข้าไปพูดคุยแนะนำสินค้าด้วยตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องกล้าที่จะยอมรับคำติชมจากลูกค้า ไปพัฒนาปรับปรุงสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น และตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค เพราะท้ายที่สุดแล้วหากเรามีสินค้าที่ดีที่สุดในโลก แต่กลับถูกวางไว้เฉยๆ ในชั้นวาง ไม่มีการสื่อสาร ไม่มีการบอกเล่าว่าสินค้านั้นดีอย่างไร สินค้าชิ้นนั้นก็จะไม่เกิดมูลค่าคุณค่าใดๆ ต่อผู้ประกอบการ"
กรรมการผู้จัดการ Bennett Apparel Group บอกอีกว่า นอกจากการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ชาวไทย ต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยหลักการง่ายๆ ที่นำไปสู่การผลิตที่มีคุณภาพ จะต้องยึดถือคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก โดยเริ่มตั้งแต่วัสดุและวัตถุดิบที่นำมาทำต้องเป็นของดี ที่สำคัญแม้สินค้าจะผลิตออกมามีคุณภาพและมาตรฐานแค่ไหน แต่การตั้งราคาขายก็ต้องมีความเหมาะสม โดยการตั้งราคาที่ดีต้องไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป ซึ่งหลักการง่ายๆ คือผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ว่าสินค้าที่ผลิตนั้น เน้นเจาะตลาดกลุ่มไหนและขายผ่านช่องทางใด ไม่เพียงเท่านั้นในส่วนของการส่งมอบสินค้าก็จะต้องตรงตามเวลานัดหมาย เพราะผู้ประกอบการชาวต่างชาติให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง หากผิดนัดส่งสินค้าแม้แต่ครั้งเดียวจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นทันที นอกจากนี้ปัจจัยด้านการบริการทั้งก่อนและหลังการขาย ถือเป็นแต้มต่อสำคัญที่สามารถสร้างความประทับใจ และทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้นเช่นกัน
ด้าน นายเกรียงไกร กิติรัตน์ตระการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามการัต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตัวแทนผู้ซื้อสินค้าไทยให้กับห้างชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ HABITAT และ HARRODS มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ภาพรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP/SMEs ของประเทศไทยนั้น สามารถสู้กับสินค้าจากประเทศคู่แข่งได้ไม่ยากนัก เนื่องจากคุณภาพของวัสดุและวัตถุดิบที่นำมาผลิต ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว แต่ปัจจัยเสริมสำคัญที่จะสามารถช่วยให้ขายสินค้าได้มากขึ้นคือการใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต โดยเฉพาะการศึกษาความต้องการของตลาดเป้าหมาย การคัดสรรวัสดุและวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เพื่อให้สินค้าและผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น มีทั้งความสวยงามตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และมีคุณภาพคงทนแข็งแรง ขณะเดียวกันในส่วนของขั้นตอนการขาย ก็ต้องมีการนำเสนอความน่าสนใจและความแตกต่างของสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าอย่างไม่ลังเล นอกจากนี้บริการหลังการขายหรือการปฏิบัติตามข้อตกลง โดยเฉพาะการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลานัดหมายก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่หากผู้ประกอบการไทยสามารถปฏิบัติได้ตามข้อตกลง จะทำให้การค้าขายราบรื่นไร้อุปสรรค
ทั้งนี้ หากเจาะลึกกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ชาวต่างชาติชื่นชอบ และผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพพัฒนาสินค้าเข้าไปเจาะตลาดในขณะนี้ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เซรามิก เช่น จาน ชาม กลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้ เช่น กรอบรูป ของใช้ ของตกแต่งบ้าน และของที่ระลึก กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอ เช่น ผ้าไหมและผ้าฝ้าย นอกจากนี้สินค้าเกี่ยวกับความงาม กลุ่มผลิตภัณฑ์ สปากำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ควรอาศัยโอกาสจากความชื่นชอบเหล่านี้ เร่งพัฒนาต่อยอดยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพมาตรฐานและรูปลักษณ์ที่โดดเด่นทันสมัย เพื่อให้สามารถส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศได้ตามเป้าหมาย ซึ่งในทางปฏิบัติหากส่งออกสินค้าได้ประสบความสำเร็จ ไม่เพียงช่วยสร้างรายได้เข้าสู่กิจการของตนเองได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วยอีกช่องทางหนึ่ง
ตัวแทนผู้ซื้อสินค้าไทย ชี้ว่า สำหรับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในอนาคตหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อาจเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย หากผู้ประกอบการไทยไม่เร่งพัฒนา และยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีความแตกต่าง คือ 1.สาธารณรัฐประชาชนจีน ในกลุ่มผลิตภัณฑ์แก้วและเซรามิก โดยเฉพาะพวกจาน ชาม และผลิตภัณฑ์จากโลหะ โดยจีนถือเป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูก และมีกำลังผลิตสินค้าได้ครั้งละมากๆ2.ประเทศเวียดนาม กลุ่มผลิตภัณฑ์เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน 3.ประเทศอินโดนีเซีย กลุ่มผลิตภัณฑ์ของชำร่วย ของที่ระลึก เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน และ 4.ประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มผลิตภัณฑ์เดียวกับประเทศไทย คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ และผลิตภัณฑ์สปา แต่มีความได้เปรียบด้านค่าแรงที่ต่ำกว่า
"จากการได้พบเห็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP/SMEs มาทั่วประเทศ มองว่าคุณภาพและความสวยงามของสินค้าไทย ไม่ได้เป็นสองรองจากใคร หรือแพ้ประเทศคู่แข่งแต่อย่างใด แต่เนื่องจากโจทย์ใหญ่ตอนนี้คือ การส่งออกไปขายในตลาดโลกได้มากขึ้นผู้ประกอบการจึงไม่อาจหยุดนิ่งในการพัฒนาสินค้า ซึ่งส่วนตัวคิดว่าถ้าจะสู้กับประเทศคู่แข่งจริงๆ เราต้องมุ่งเจาะตลาดบน ฉะนั้น จะเน้นเพราะคุณภาพของสินค้าอย่างที่ผ่านมาไม่ได้ จะต้องมีการผนวกและผสมผสานเทคนิคการผลิต เพื่อให้สินค้าแต่ละชิ้นออกมาพิเศษกว่าคนอื่น อย่างการประยุกต์เอางานพื้นบ้าน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น มาต่อยอดผลิตเป็นสินค้าคอลเล็คชั่นใหม่ เชื่อว่านอกจากจะขายดีเพราะตรงตามความชื่นชอบของชาวต่างชาติ ก็ยังสามารถป้องกันการลอกเลียนแบบได้อีกด้วย" นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit