ณ มะละกา ของขวัญแห่งความรัก

11 Sep 2015
เอ่ยถึงเปอรานากัน คนที่พอคุ้นเคยคงจะนึกถึงคำเรียกขาน "บ้าบ๋า-ย่าหยา" จากซีรีส์ฮิตทางจอแก้ว ที่เป็นคำเรียกขานชายหญิงในกลุ่มคน "ลูกครึ่งจีน–มลายู" เปอรานากันที่แท้ต้องสืบเชื้อสายมาจากชาวจีนและคนของปลายแหลมมลายูเท่านั้น ในยุคที่ชาวจีนโพ้นทะเลล่องเรือมาค้าขายกับชาวต่างถิ่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน กระทั่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนด้ามขวานทองไปจรดปลายแหลมมลายู เปอรานากันถือว่าเป็นแหล่งก่อเกิดวัฒนธรรมผสมผสานที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร....และมีที่มาจากความรัก

มะละกา เมืองชายฝั่งอีกด้านหนึ่งของด้ามขวาน เมืองท่าสำคัญของมาเลเซียที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 600 ปี ในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกบนช่องแคบมะละกา จึงเป็นที่รวมของพ่อค้าจากหลากหลายเชื้อชาติ การอยู่ใต้อิทธิพลของโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษนานกว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้สิ่งที่หลงเหลือจากอดีตพอจะทำให้หวนนึกถึงความรุ่งโรจน์แห่งยุคสมัยซึ่งยังคงมีอยู่มากไม่ว่าจะเป็นอาคารเก่าแก่ที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตกกับตะวันออก โปรตุเกส ดัตช์ และมาเลย์ ซึ่งอาคารเหล่านี้ได้รับการยกย่องให้เป็นนครประวัติศาสตร์บนช่องแคบมะละกาจากองค์การยูเนสโกในปี ค.ศ. 2008

ปัจจุบันอาคารหลายแห่งกลายเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ ความรักระหว่างชาติพันธุ์และสายใยแห่งครอบครัวแบบเปอรานากันที่ดึงดูดผู้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นการชมดัทช์สแควร์ อดีตย่านที่อยู่ของชาวฮอลันดา ชมความงดงามของอาคารสตัดฮิวส์ น้ำพุวิคตอเรีย โบสถ์คริสต์ หรือจะชมทัศนียภาพของช่องแคบมะละกาจากเนินเขาเซนต์ปอล และสักการะรูปปั้นนักบุญเซนต์ฟรานซิสซาเวียร์อันศักดิ์สิทธิ์ ที่วิหารเซนต์ปอล ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งร่างของท่าน ก่อนย้ายไปฝังที่เมืองกัว ประเทศอินเดีย ชมป้อมปืนใหญ่ เอฟาโมซา ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1511 หนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองมะละกา การล่องเรือแม่น้ำมะละกาหรือชมเมืองด้วยรถสามล้อที่มีเสน่ห์เอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทั้งสีสัน การตกแต่งด้วยสารพัดดอกไม้และเสียงเพลงที่เปิดดังลั่นถนนยามพานักท่องเที่ยวชมเมืองถือเป็นอีก

หนึ่งไฮไลท์ของที่นี่ ปล่อยใจให้เป็นอิสระกับการเดินชมเมืองในย่านถนนยองเกอร์ สตรีท ซึ่งมีร้านค้าเรียงรายกันในบรรยากาศที่ผสมผสานกลิ่นอายของอดีตและยุคสมัยใหม่ ในยามค่ำคืนถนนสายนี้จะเปลี่ยนเป็นถนนคนเดิน เพิ่มสีสันในการเที่ยวชมเมืองความสุขระหว่างครอบครัวที่แสนโรแมนติกและหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

ความโดดเด่นที่เป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นคนเปอรานากันของมะละกาอีกประการ คงหนีไม่พ้นเรื่องอาหารที่มีแห่งเดียวในโลกนี้เท่านั้น คนที่นั่นเขาเรียกอาหารที่เขารับประทานว่า "เลิฟ ฟู้ด ( Love Foods)" เพราะเมืองนี้เลยมีคนสองสัญชาติ คือเป็นคนจีนไม่กินเนื้อ แล้วมลายูไม่กินหมู แต่คนทั้งสองวัฒนธรรม สองศาสนา ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีปัญหาโดยเฉพาะอาหารการกิน ที่มาของอาหารแห่งความรักที่เรียกว่า "เปอรานากัน" มาจากเมื่อสาวจีนต้องแต่งงานกับหนุ่มมลายู หรือสาวมลายูต้องแต่งงานกับหนุ่มจีน จะอยู่จะกินกันได้ เพราะทั้งสองฝ่ายคิดค้นเมนูอาหารขึ้นมาเปิบร่วมกัน "อาหารเปอรานากัน"..เป็นอาหารที่ไม่มีทั้งเนื้อหมู และไม่มีทั้งเนื้อวัว คนจีนนับถือเจ้าแม่กวนอิมก็กินได้ คนมลายูไม่กินเนื้อหมูก็กินได้ บทสรุปทั้งหลายจึงมาลงที่กินอาหารซีฟู้ด อาหารทะเลประเภท กุ้ง หอย ปู ปลาแทน เกิดเป็นเมนูอาหารที่เรียกว่า "เปอรานากัน" อาหารที่ว่านี้ กำเนิดเกิดขึ้นที่เมืองมะละกาแห่งนี้ แล้วก็ขยายไปถึงสิงคโปร์ จนถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ถ้าจะว่ากันถึงต้นตำรับแล้วไซร้ก็ต้องไปกินที่เมืองมะละกา มาเลเซียนี้เท่านั้น ถึงจะได้รสชาติดังเดิม อาหารแห่งความรักจะมีเครื่องเทศแบบแขก รวมทั้งมีพริกเผ็ดๆ แต่ก็มีรสชาติเค็มๆ มันๆ แบบคนจีน แล้วที่จะต้องสั่งให้ได้คือ ผักบุ้งจีนผัดกะปิแขก ที่เรียกว่าปาราจัน อาหารแห่งความรัก "เปอรานากัน" จะจบลงด้วยของหวานอาจเป็นลอดช่องที่รสชาตินั้นเข้มข้นกว่าของที่อื่น

เมื่อมีโอกาสมาเดินชมมะละกา จะพบว่าเสน่ห์ของเมืองเก่าแก่แห่งนี้ไม่ใช่อยู่ที่อาภรณ์ที่สวมใส่หรืออาหารหลากหลาย หากแต่อยู่ที่การอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติของผู้คนต่างความเชื่อ ต่างความศรัทธา อันมีความรักเป็นสายโยงใย... หากคิดจะโยงสายใยรักแห่งครอบครัวให้แน่นแฟ้น เชิญพิสูจน์ได้ ณ มะละกา ดินแดนเปอรานากัน...ความรักของฉันคือความรักของเธอNews Updateมาเลเซียขอท้า!!!- เพียงคุณแชะภาพแบบเจิดเจิดที่มาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เทศกาล อาหาร ช้อปปิ้งแล้วโพสลง IG ของคุณพร้อมแฮชแท็ก #beautifulMalaysia หรือโหลดลงบนเว็ปไซท์ www.tourism.gov.my/beautifulMalaysia- ลุ้นรับ GoPro Hero 4, iPad Air 2, Canon EOS 100D และ OPPO Find 5 คุ้มสุดคุ้มทุกสัปดาห์!!!- ระยะเวลาแข่งขัน: วันนี้ – 20 ก.ย. 2558- นอกจากนี้ภาพถ่ายของผู้ชนะจะตีพิมพ์บนโปสการ์ดโปรโมท Year of Festivals 2015 สำหรับวางแจกในสนามบินเกือบทั่วมาเลเซีย ผู้คนจากทั่วโลกจะได้ชื่นชมผลงานสุดเจ๋งของคุณอย่างแน่นอน!

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit