หวั่นอากาศแปรปรวนกระทบภาคเกษตร สศก.ย้ำ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเข้าสู้ รุกรับมือในอนาคต

09 Sep 2015
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงสภาพภูมิอากาศแปรปรวนกระทบภาคเกษตร เผย สร้างความสูญเสียพืชเศรษฐกิจโดยรวม มูลค่าราวเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี ระบุ แหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของภาคเกษตร คือ ก๊าซมีเทนจากนาข้าว พร้อมรุกแผนและยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ย้ำเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขและลดปัญหาเพื่อปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสภาพภูมิอากาศปัจจุบันที่มีความแปรปรวนสูง โดยเฉพาะปริมาณและการกระจายของฝนที่มีความแปรปรวนระหว่างปีและภายในปีเดียวกันค่อนข้างสูง ซี่งจะทำให้บางปีเกิดภัยแล้ง ขณะที่บางปีเกิดน้ำท่วม ความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้ระบบการเกษตรเกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมากขึ้น ซึ่งความไม่แน่นอนนี้จะส่งกระทบอย่างมากต่อเกษตรกรรายย่อย

ในเรื่องดังกล่าว สศก. ได้ศึกษาคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จากแบบจำลองภูมิอากาศโลก 7 แบบจำลอง และใช้รูปแบบการปลดปล่อยพลังงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)แบบ A1B แบบอนุรักษ์นิยมที่ค่อนข้างสมเหตุผล ผลการวิเคราะห์ได้คาดการณ์อุณหภูมิที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น 0.4 องศาเซลเซียส ในทุก 10 ปีนับจากปัจจุบันจนถึงปี พ.ศ. 2593 และพบว่าภายใน พ.ศ. 2593 อุณหภูมิต่ำสุดและอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2°C เมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิปัจจุบัน และอุณหภูมิสูงสุดจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.8°C ส่วนพื้นที่ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดอุณหภูมิเฉลี่ยอาจมีค่าสูงกว่า 29°C สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย โดยปริมาณน้ำฝนรายปีอาจลดลงถึง 250 มิลลิเมตรในตอนกลางของประเทศไทย และเพิ่มขึ้นถึง 600 มิลลิเมตรในพื้นที่ภาคเหนือและใต้ ส่วนฝนตกรายเดือนจากต้นฤดูถึงปลายฤดูฝนยังคงไม่เปลี่ยนแปลงในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้แหล่งผลิตปาล์มน้ำมัน ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นถึง 200 มิลลิเมตรในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งผลกระทบและแนวโน้มในอนาคตของผลผลิตปาล์มน้ำมันขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนย้อนหลังไป 23 เดือนซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้ผลผลิตปาล์มไปออกมากขึ้นในเดือนตุลาคมอีกรอบ

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของปริมาณฝนภายในปีเดียวกันสูงพอๆ กับความแตกต่างของปริมาณฝนระหว่างปี ซึ่งหมายความว่า ปริมาณน้ำฝนจะมีความแปรปรวนสูงมากขึ้นต่อจากนี้ไป ดังนั้น เกษตรกรควรที่จะต้องตระหนักและมีแผนรับมือต่อความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝน ทั้งนี้ จากความแปรปรวนในปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังจะก่อให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง (Extreme Events) บ่อยขี้นอีกด้วย ทั้งในเรื่องรังสีความร้อน ความหนาวฉับพลัน น้ำท่วมรุ่นแรง และภัยแห้งแล้ง ซึ่งแบบจำลองของภูมิอากาศโลกยังไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำนัก

นอกจากนี้ สศก. ยังได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลประทบในระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ โดยผลการวิเคราะห์พบว่า แต่ละพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่แตกต่างกัน โดยพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้บางส่วนเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมมูลค่าความสูญเสียทั้งหมดระหว่าง 1.8 ถึง 3 พันล้านบาทต่อปี พืชที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ ทุเรียน ลำไย ข้าวโพด อ้อย ปาล์มน้ำมัน และยางพารา และหากรวมความสูญเสียของทุกพืชแล้ว ความสูญเสียรวมทั้งหมดมีมูลค่าประมาณเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี

สำหรับในภาคเกษตรของประเทศไทย ข้อมูลจากการจัดทำรายงานแห่งชาติฉบับที่ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สศก. เป็นคณะทำงาน พบว่า ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยในปี 2554 จากก๊าซมีเทนจากนาข้าวปล่อยมากที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 54 รองลงมา คือ ปศุสัตว์ (การหมักฯและการจัดการมูลสัตว์) และดินที่ใช้ในการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 25 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ส่วนการเผาเศษวัสดุการเกษตรมีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 2 ขณะที่ก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรมีแนวโน้มปล่อยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2548-2554

พร้อมนี้ สศก. ซึ่งมีภารกิจในการกำหนดนโยบายพัฒนาภาคการเกษตร ได้จัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการว่าด้วยเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ปี พ.ศ. 2556 - 2559 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยครอบคลุมทั้งประเด็นการปรับตัว (Adaptation) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปรับตัวรองรับ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มี 2 กลยุทธ์ คือ 1) การเตรียมพร้อมและสร้างภูมิคุ้มกัน 2) การลดผลกระทบ การรับมือ และการปรับตัว ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเก็บกักและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร มี 2 กลยุทธ์ คือ 1) การพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องก๊าซเรือนกระจก 2) การส่งเสริม สนับสนุนการปรับระบบการผลิตสู่เกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร มี 4 กลยุทธ์ คือ 1) การพัฒนาเสริมสร้างองค์ความรู้ 2) การสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วม 3) การเพิ่มศักยภาพบุคลากร และ 4) การพัฒนาการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ สศก. ยังอยู่ระหว่างการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร และแผนพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2560-2564 โดยพยายามให้ประเด็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นของการพัฒนาภาคเกษตรอีกด้วย

เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขและลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสามารถแบ่งเทคโนโลยีดังกล่าวออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร (GHG Mitigation Technology) มี 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ แนวทางที่ 1 การใช้ปุ๋ยสั่งตัด เป็นแนวทางลดการใช้ปุ๋ยเคมี (แหล่งปล่อยไนตรัสออกไซด์ N2O ที่สำคัญ) โดยใส่ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ค่าดิน หรือ เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารเฉพาะที่ แนวทางที่ 2 การทำนาข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (Alternate Wet and Dry Practice: AWD) ที่ปล่อยน้ำในช่วงที่เหมาะสม แนวทางที่ 3 การใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (Ammonium-Sulphate) แทนการใช้ปุ๋ยยูเรียเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ในนาข้าว

2. เทคโนโลยีที่ช่วยในการปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Technology) โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวทนต่อสภาวะแวดล้อม และพันธุ์ข้าวทนโรค ซึ่งกรมการข้าว ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช) ได้ร่วมกันพัฒนาพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ได้ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลันและทนแล้ง สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนดินเค็ม และสายพันธุ์ กข6 ต้านทานโรคไหม้ โดยได้ผ่านการปลูกทดสอบในศูนย์วิจัยข้าว และแปลงของเกษตรกรแล้ว ซึ่งพบว่า ให้ผลผลิตไม่ต่างจากเดิม อีกทั้งยังมีเรื่องของการการบริหารจัดการน้ำ ที่ถือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Technology) ทั้งการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำ การบริหารจัดการน้ำในฟาร์ม และการใช้ Remote Sensing Technology ทั้งนี้ ในอนาคตควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อศึกษาโลกสภาวะร้อนอย่างจริจังไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีจากงานวิจัยท้องถิ่น การทำเกษตรแบบแนวตั้ง (Vertical Farming) และการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) เพื่อสามารถกำหนดปริมาณใช้น้ำของพืช การกำหนดปริมาณการใช้ปุ๋ยได้แม่นยำ และตรงตามความต้องการของพืช เป็นต้น