พิธีเปิดโครงการ และสัมมนางาน Thailand: World Halal Best Choice

07 Sep 2015
กระทรวงพาณิชย์ ร่วมผลักดันยุทธศาสตร์ฮาลาลจัดสัมมนา Thailand: World Halal Best Choiceขับเคลื่อนไทยสู่ผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
พิธีเปิดโครงการ และสัมมนางาน Thailand: World Halal Best Choice

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาล พ.ศ. 2559-2563 ของรัฐบาล จัดสัมมนา Thailand: World Halal Best Choice ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเพื่อขยายศักยภาพผู้ประกอบการและผลักดันประเทศไทย สู่เป้าหมายผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ภายในปี 2563

งานเปิดตัวโครงการฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ได้รับเกียรติจากปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร และรองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ตัวแทนจุฬาราชมนตรี นายประสาน ศรีเจริญ เป็นประธานร่วมในพิธี พร้อมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ การเสวนาหัวข้อ "แนวทางการดำเนินโครงการตามนโยบายพัฒนาศักยภาพสินค้าและบริการฮาลาล และการก้าวสู่การเป็น 1 ใน 5 ของผู้ส่งออกตลาดโลก" โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายมาตยวงศ์ อมาตยกุล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายสมาน อาดัม รองเลขาธิการ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย นางวิไลภรณ์ แช่มประสิทธิ์ นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และรศ. ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมให้ความรู้และข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลไทย ที่เข้าร่วมสัมมนากว่า 300 ราย

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การก้าวสู่ผู้นำฮาลาลในตลาดโลก" ว่า "ในปัจจุบันนี้ ความต้องการสินค้าและบริการฮาลาล กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามอัตราการคาดการณ์การเพิ่มของประชากรมุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนบน และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าประชากรมุสลิมในทุกภูมิภาคจะเพิ่มถึงร้อยละ 73 นับจากปี 2553 ถึงปี 2593 ซึ่งมากกว่าอัตราการเพิ่มประชากรทั่วไปถึงร้อยละ 35 ทำให้จำนวนประชากรมุสลิม ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1,700 ล้านคนหรือ 1 ใน 4 ของประชากรโลก จะเพิ่มเป็น 2,800 ล้านคน ในอีก 35 ปีข้างหน้า ส่วนในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ครบกำหนดการดำเนินยุทธศาสตร์ฯ คาดว่าประชากรมุสลิมจะมีจำนวนประมาณ 2,050 ล้านคน โดยในแต่ละปีมีอัตราการเพิ่ม กว่าร้อยละ 2 ในขณะที่ประชากรอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ1.2 ต่อปี

ซึ่งการขยายตัวของจำนวนประชากรมุสลิมนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก หากมองย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเปรียบเทียบ GDP ระหว่างปีค.ศ. 2004 และปีค.ศ. 2014 ของประเทศมุสลิมหลายๆ ประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไนจีเรีย มีอัตราการขยายตัวของ GDP กว่า 380% อินโดนีเซียขยายตัว 230% ซาอุดิอาระเบียขยายตัว 200% สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ขยายตัว 180% และมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของเรา มีอัตราการขยายตัวของ GDP ถึง 170% ในขณะที่ ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตมากอันดับต้นๆของโลกมีอัตราขยายตัวของ GDP เพียงแค่ 42% การขยายตัวของ GDP ในประเทศกลุ่มมุสลิม จะสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั่วโลก รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจของไทย และเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มการเติบโตของความต้องการสินค้าฮาลาลในด้านการส่งออกของไทย สินค้าไทยได้ชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีความคุ้มค่าสำหรับการอุปโภคบริโภคอีกทั้งยังมีมาตรฐานการผลิตที่สูง และยังมีความหลากหลายตามความต้องการของผู้ซื้อ โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกรวมถึง 227,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 26 ของโลก และมีการส่งออกสินค้าอาหารเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ในส่วนของสินค้าฮาลาลโดยเฉพาะสินค้าอาหาร ในปี 2557 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังประเทศในกลุ่ม OIC ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มมุสลิม เช่น อียิปต์ โอมาน บาห์เรน ไนจีเรีย เบนิน แคมเมอรูน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซูดาน จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เป็นต้น โดยมีมูลค่าประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 12.5% เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยมีสินค้าสำคัญหลักคือ ข้าว น้ำตาล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป มูลค่าการส่งออกที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของสินค้าไทยและผู้ประกอบการผลิต ผู้ส่งออกของเรา ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งรวมถึงตลาดผู้บริโภคชาวมุสลิมด้วย

"ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิต การส่งออกสินค้าฮาลาลเพื่อรองรับความต้องการสินค้าฮาลาลทั่วโลก โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาลแห่งชาติ ขึ้นพิจารณายุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล และมอบหมายให้ส่วนราชการต่างๆรับผิดชอบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีองค์กรสำคัญของศาสนาอิสลามร่วมดำเนินการด้วยคือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งดิฉันขอขอบคุณที่ได้ให้ความร่วมมือกับทุกส่วนราชการ ณ โอกาสนี้ด้วย

ด้านรองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ เปิดเผยถึงบทบาทของกรมฯ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฮาลาลที่ 3 ว่า "ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจและสินค้าฮาลาลแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ข้อ คือการเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนามาตรฐานและการตรวจรับรองฮาลาล การเสริมสร้างศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล การพัฒนาศักยภาพการตลาดฮาลาลสู่สากล และการพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาล นั้น กรมส่งเสริมการค้า

ระหว่างประเทศได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์ที่ 3 และได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการต่างๆ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกสินค้าและบริการฮาลาลของไทย "ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าฮาลาลของไทยใน 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้ากับผู้นำเข้าสินค้าในประเทศมุสลิม และ การดำเนินกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์สินค้าฮาลาลของไทย เช่น ในงานแสดงสินค้าอาหาร Thaifex: World of Food Asia ได้จัดให้มี Thailand Halal Pavilion ร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังมี โครงการต่อยอดผู้ประกอบการอาหารฮาลาลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีศักยภาพให้สามารถส่งออกได้ ร่วมกับ ศอ.บต. การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Gulfood ณ เมืองดูไบ การจัดคณะผู้แทนการค้าไปยังตลาดเป้าหมายเช่นประเทศโอมาน อินโดนีเซีย อียิปต์ เพื่อเปิดตลาดกับผู้ซื้อและตัวแทนจำหน่ายในตลาดเป้าหมายทั้งในและนอกกลุ่มประเทศ OIC เป็นต้น"

รองอธิบดีจันทิรา กล่าวอีกว่า "เพื่อตอบรับกับแผนยุทธศาสตร์ฮาลาลของรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้กำหนดตลาดเป้าหมายและสินค้าเป้าหมายใหม่ รวมถึงกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น 1 ใน 5 ผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลโลกในปี 2563 จึงได้จัดงาน Thailand : World Halal Best Choice ขึ้นในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการผลักดันสินค้าและบริการฮาลาลไทย นำเสนอ ตลาดเป้าหมาย สินค้าเป้าหมาย และภารกิจตามยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพการตลาดฮาลาลสู่สากล ทั้งของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานต่างๆ"

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมต่างๆที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้นในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อท่านทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเสวนาให้ความรู้ด้าน ฮาลาล มาตรฐานและการรับรองฮาลาลของไทย การบริการตรวจสอบมาตรฐานฮาลาลในเชิงวิทยาศาสตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมที่กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้จัดให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออก ต่อไป"