พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม SMEs เป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาจำนวน SMEs ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 2.74 ล้านราย พบว่ากว่าร้อยละ 99.5 เป็นวิสาหกิจขนาดเล็ก ขณะที่วิสาหกิจขนาดกลาง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงและช่วยขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) มีเพียง 12,812 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของวิสาหกิจโดยรวมเท่านั้น ซึ่งการจะพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า จึงต้องมุ่งพัฒนาและสนับสนุนให้ SMEs เติบโตจากขนาดเล็กเป็นขนาดกลาง ขนาดกลางเป็นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่การเป็น High Income Economy
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs มาโดยตลอดและมอบหมายให้เป็นภารกิจสำคัญซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการความร่วมมือ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งกลุ่มที่เกิดใหม่ กลุ่มที่เติบโตสามารถขยายกิจการในประเทศ กลุ่มที่สามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ และกลุ่มที่เลิกกิจการแต่ยังมีศักยภาพทางธุรกิจ ทั้งที่อยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้สามารถประกอบการได้เติบโต เข้มแข็ง จึงได้มอบหมายให้ สสว. ดำเนินโครงการสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด (SME Provincial Champions) เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพและเข้าถึงความช่วยเหลือที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้น
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า โครงการสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระยะเร่งด่วนปี 2558 ที่รัฐบาลและ สสว. ที่มุ่งจะส่งเสริม พัฒนา SMEs ให้สามารถดำเนินกิจการเติบโตตามวงจรธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างต้นแบบธุรกิจที่มีศักยภาพในระดับจังหวัด และเป็นแบบอย่างการจัดการองค์ความรู้ธุรกิจให้กับ SMEs อื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงสร้างระบบบูรณาการส่งเสริม SMEs ทุกภาคส่วน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
การดำเนินงานจะเป็นการคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs เป้าหมาย จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เริ่มดำเนินธุรกิจ (Start Up) กลุ่มที่มีศักยภาพทางการตลาด (Rising Star) และกลุ่มที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว (Turn Around) ให้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพ โดยการอบรมพัฒนาธุรกิจ วินิจฉัยสถานประกอบการเชิงลึกทุกมิติพร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงตามแผนงานที่กำหนด และส่งเสริมกิจกรรมด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปัจจุบันได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs จากทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว จำนวน 230 ราย ประกอบด้วย กลุ่มที่เริ่มดำเนินธุรกิจ (Start Up) จำนวน 76 ราย กลุ่มที่มีศักยภาพทางการตลาด (Rising Star) จำนวน 77 ราย กลุ่มที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว (Turn Around) จำนวน 77 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในภาคการผลิต จำนวน 151 ราย คิดเป็นร้อยละ 65 ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รองลงมาอยู่ในภาคเกษตรอุตสาหกรรม จำนวน 39 ราย ภาคการค้า 21 ราย และภาคบริการ 19 ราย ตามลำดับ การดำเนินงานขั้นต่อไปจะเป็นการพัฒนาศักยภาพตามวงจรธุรกิจและความต้องการของผู้ประกอบการ โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559
ทั้งนี้ สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ทำการคัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ประกอบการกลุ่ม Start Up และ Rising Star ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว ซึ่งมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนมุมมองและกระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจให้มั่นคง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำหน้าที่คัดเลือกกลุ่ม Turn Around ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งตรวจประเมินและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ และ กระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่พัฒนาทักษะทางการตลาดและขยายโอกาสการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการตลาดออนไลน์
"สสว. เชื่อว่า ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้โครงการ จะมีศักยภาพและขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นตามวงจรธุรกิจ สามาถพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ มีผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้น มีทักษะและความสามารถในการขยายตลาดและสร้างผลประกอบการเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตและยั่นยืนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เป็นสร้างรากฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในระดับจังหวัด ภูมิภาค และประเทศในที่สุด" นางสาววิมลกานต์ กล่าว