ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ความต้องการใช้พลังงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต อีกทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการจัดหาแหล่งพลังงานฟอสซิลมีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น ประเด็นแหล่งพลังงานที่มีจำกัด จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกๆ ประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีการบริโภคและนำเข้าพลังงานในระดับที่สูงแต่มีทรัพยากรพลังงานในประเทศจำกัด จากข้อมูลด้านพลังงานโลก World Energy Outlook โดย International Energy Agency: IEA พบว่าช่วงเวลาปัจจุบันจนถึงปี ค.ศ. 2035 ปัญหาความต้องการใช้พลังงานของโลกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1 ใน 3 เนื่องจากมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในจีน อินเดีย และประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งนี้ การเจริญเติบโตของความต้องการพลังงานได้สูงมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะภาคขนส่งในทวีปเอเชียที่มีความต้องการบริโภคน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 25
ดร.ณรงค์ชัย กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ตระหนักถึงความสำคัญและประเด็นท้าทายด้านพลังงานของประเทศเป็นอย่างดี จึงได้มีนโยบายหลักด้านพลังงานประกอบด้วย การปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เพื่อให้ภาคประชาชนมีพลังงานใช้อย่างต่อเนื่องและพอเพียง ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม เป็นไปตามเป้าหมายหลักของการพัฒนาและบริหารภาคพลังงาน ที่ว่า "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"
"การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน จึงเป็นนโยบายประการสำคัญที่กระทรวงพลังงานต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานในระดับสูงและจำเป็นที่ต้องมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนพลังงาน กระทรวงพลังงานจึงกำหนดแนวนโยบายส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยกลไกบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company) หรือที่เรียกว่า ESCO นั้น ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่กระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไกของบริษัทจัดการพลังงาน ซึ่งมีการรับประกันผลอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีนั้น กระทรวงพลังงานจะยังคงมุ่งเน้นการส่งเสริม ESCO ให้เป็นมาตรการหลักที่มีการดำเนินการต่อไปในระยะยาวพร้อมๆ ไปกับการดำเนินมาตรการในด้านอื่นๆ โดยจะส่งเสริมให้บริษัท ESCO เพิ่มศักยภาพการให้บริการมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ขยายผลการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบ ESCO ให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งภาคเอกชนและราชการ รวมถึงมีมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นตลาดและธุรกิจ ESCO ให้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลให้ประเทศมีพลังงานใช้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวต่อไป" รมว.พลังงาน กล่าว
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ของความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทยที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นและเป็นประเด็นท้าทายต่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานภายในประเทศ โดยจากข้อมูลพบว่า มูลค่าการใช้พลังงานไทย ในปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท โดยเป็นพลังงานจากการนำเข้าคิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าการใช้พลังงานภายในประเทศ ซึ่งการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศยังคงเป็นภาระที่สำคัญสำหรับประเทศ โดยมีมูลค่าการนำเข้าพลังงานรวมทั้งสิ้น อยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท โดยน้ำมันดิบมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด จากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามความเติบโตของเศรษฐกิจ ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้กำหนดนโยบายและแนวทางเพื่อกำกับดูแลและส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในทุก ๆ สาขาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
โดยหนึ่งในแนวทางหลักที่ได้มีการดำเนินการเป็นรูปธรรมคือ การจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานระยะ 20 ปี (ปี 2554-2573) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้มีค่าดัชนีการใช้พลังงานรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ณ ปี พ.ศ. 2573 ลดลงให้ได้ร้อยละ 25 โดยภายใต้แผนฯ ดังกล่าว ได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักไว้คือ การใช้มืออาชีพและบริษัทจัดการพลังงาน Energy Service Company หรือ ESCO เป็นกลไกสำคัญเพื่อให้คำปรึกษาและดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่สามารถให้บริการแบบครบวงจรและเสริมสร้างผู้ประกอบการให้มีการใช้พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยรับประกันผลประหยัดและชดเชยส่วนต่างกรณีผลที่ได้รับไม่เป็นไปตามข้อตกลง
นายธรรมยศ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา พพ. ได้ร่วมมือกับสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการร่วมมือกันส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานโดยอาศัยกลไก ESCO การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไกบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ที่ผ่านมาได้ดำเนินการในหลายๆ ด้าน เช่น การสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงาน การจัดกิจกรรมกระตุ้นและส่งเสริมตลาดในธุรกิจ ESCO การพัฒนาศักยภาพและให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งผลการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไก ESCO ในช่วงปี 2552 - 2557 ที่ผ่านมา สามารถผลักดันให้เกิดการทำสัญญาการลงทุนโครงการอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไก ESCO ได้ถึง 379 โครงการ โดยมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 19,615 ล้านบาท และก่อให้เกิดผลประหยัดพลังงานได้เป็นมูลค่ากว่า 4,200 ล้านบาท นอกจากนี้ สามารถผลักดันให้เกิดผู้ให้บริการ (ESCO) ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ถึง 60 ราย ทั้งนี้ หากนับเฉพาะผลล่าสุดที่เกิดขึ้นในปี 2557 ที่ผ่านมา สามารถผลักดันโครงการ ESCO ได้ประมาณ 67 โครงการ ก่อให้เกิดการลงทุนทั้งสิ้นกว่า 3,700 ล้านบาท และมีผลประหยัดพลังงานรวมกันประมาณ 670 ล้านบาท/ปี
"การจัดงาน Thailand ESCO Fair ครั้งนี้ เป็นอีกกิจกรรมที่เป็นการสานต่อและขยายผลการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับธุรกิจบริษัทจัดการพลังงานที่เกิดจากการพัฒนามาตรฐานความเป็นมืออาชีพของ ESCO ให้มีศักยภาพสูงในการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมั่นใจในการลงทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นด้วย ESCO รวมไปถึงการขยายเครือข่ายระหว่างบริษัทจัดการพลังงาน ผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน ตลอดจนส่งเสริมให้สถานประกอบการที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงาน สามารถเลือกลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างเหมาะสม" นายธรรมยศ กล่าว
ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจัดงาน THAILAND ESCO FAIR ในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญภายใต้ "โครงการส่งเสริมธุรกิจและกระตุ้นตลาดการอนุรักษ์พลังงานโดยกลไกบริษัทจัดการพลังงาน" โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ส.อ.ท.ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการดำเนินธุรกิจและการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงาน ส่งเสริมให้สถานประกอบการ สามารถเลือกลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะใช้บริการจากบริษัทจัดการพลังงาน หรือ ESCO รวมทั้งเป็นทั้งเวทีกลางในการพบปะกันระหว่างบริษัทจัดการพลังงาน และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จด้านการอนุรักษ์พลังงานด้วยบริการแบบมืออาชีพของบริษัทจัดการพลังงาน รวมถึงสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนที่ให้บริการด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการลงทุน พัฒนาและส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการอย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศต่อไป
"งานครั้งนี้นับเป็นการรวมตัวของบริษัทจัดการพลังงานไทยครั้งใหญ่ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีความสนใจเรื่องการอนุรักษ์พลังงานพบกับเทคโนโลยีด้านการประหยัดพลังงาน และการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงาน ได้เข้าชมและเลือกใช้บริการของบริษัทจัดการพลังงาน อันจะนำมาพัฒนาศักยภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและสามารถสร้างผลประกอบการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันกับตลาดโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งาน Thailand ESCO Fair 2015 ในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตลาดของธุรกิจ ESCO และทำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจเกิดความเชื่อมั่นในการให้บริการของ ESCO เป็นไปตามมาตรฐาน ส่งผลให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งนอกจากงานนี้แล้วสภาอุตสาหกรรมฯ ได้กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจ ESCO อีก 10 ครั้ง ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครราชสีมา ชลบุรี ภูเก็ต และเชียงใหม่ เพื่อเป็นการส่งเสริม เผยแพร่ และกระจายความรู้ความเข้าใจของแนวคิดธุรกิจจัดการพลังงาน ให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการประหยัดพลังงานโดยกลไกบริษัทจัดการพลังงาน และสนใจที่จะลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานได้เจรจาด้านธุรกิจอนุรักษ์พลังงานโดยกลไกบริษัทจัดการพลังงานได้อย่างตรงตามเป้าหมายที่ผู้ประกอบการต้องการ" ประธาน ส.อ.ท. กล่าว