สมาคมแพทย์ผิวหนังฯเตือนภัยอันตรายจากการสัก

17 Jul 2015
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ออกมาเตือนภัยผู้ชอบนิยม "การสัก" ให้ระวังภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสัก เผยส่วนประกอบของสีที่นำมาสัก มีส่วนประกอบของสารก่อมะเร็งพวก diolepoxide หรือหากเกิดการเจ็บป่วย และต้องเข้าตรวจด้วยเครื่อง MRI อาจเกิดอาการข้างเคียง นอกจากนี้หากต้องการลบรอยสัก ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
สมาคมแพทย์ผิวหนังฯเตือนภัยอันตรายจากการสัก

ดร. นพ. เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรมสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ในปัจจุบันการสักผิวหนังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย บางคนสักเป็นแฟชั่นเหมือนดาราชื่อดังหลาย ๆ คน บางคนสักเพื่อลดระยะเวลาในการแต่งหน้า อาทิ สักคิ้วถาวร สักริมฝีปากชมพู เป็นต้น ในส่วนของสีที่สักนั้น จะไม่อยู่ในบริเวณที่สักนาน หลังจากการสัก 6 สัปดาห์จะเหลือเพียงร้อยละ 32 ในบริเวณที่สัก ถ้าผ่านไประยะยาว ๆ จะเหลือเพียงร้อยละ 1-13 โดยสีจะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง นอกจากนั้นสียังมีการเปลี่ยนแปลงได้ หลังจากบริเวณที่สักถูกแสงแดด เช่น สีบางสีจะซีดลง รังสียูวีเอในแสงแดด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบในสี เกิดเป็นสารก่อมะเร็งพวก diolepoxide

ดร. นพ. เวสารัช กล่าวว่าภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการสักนั้น พบได้ร้อยละ 75 ของผู้สักทั้งหมด โดยจะเป็นอาการตั้งแต่หลังสัก แบ่งเป็นอาการทางผิวหนังร้อยละ 68 คือ ตกสะเก็ด มีอาการคัน เลือดออก บวม ตุ่มน้ำ เป็นหนอง ส่วนอาการทั่วไป ได้แก่ มีอาการมึนงง ปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดเมื่อย พบได้ร้อยละ 7 และพบภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากการสัก พบได้ร้อยละ 6 จากผู้สักทั้งหมด เช่น แผลเป็น บวมเป็น ๆ หาย ๆ ไวต่อแสง คัน รอยสักนูน สิว ตุ่ม ชา ปัญหาทางจิตประสาท เป็นต้น

สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง พบได้หลายอย่าง เช่น อาจทำให้เกิดการแพ้ในบริเวณที่สัก ทำให้ผิวนูน ตะปุ่มตะป่ำ หรือเกิดเป็นแผลเรื้อรัง เนื่องจากแพ้สีที่สัก การสักไม่ถาวรที่เรียกว่าสักเฮนน่า ควรจะใช้เฮนน่าที่มาจากธรรมชาติ แต่มีผู้สักมักง่าย ใช้ยาย้อมผมเคมีที่ประกอบไปด้วยสาร paraphenylene diamine มาใช้แทน ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงจนอาจเป็นแผลเป็นถาวรได้ การติดเชื้อจากการสักเกิดได้จากเชื้อหลาย ๆ ชนิด ตั้งแต่ไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี เชื้อเอชไอวี แบคทีเรียและไมโครแบคทีเรีย เชื้อราและซิฟิลิส เมื่อผู้มีรอยสักมีอาการเจ็บป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจด้วยเครื่อง MRI อาจทำให้มีอาการเจ็บ บวม แดง ในบริเวณที่เป็นรอยสัก เนื่องจากสีหลากหลายสีที่นำมาสัก มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก

สาเหตุที่เกิดภาวะแทรกซ้อนและติดเชื้อ เกิดได้จาก 5 ปัจจัย ได้แก่ 1.เกิดจากสี ที่ใช้สักและการปนเปื้อนของสีและน้ำที่มาเจือจางสีปนเปื้อนเชื้อ 2.เกิดจากเทคนิคการสักที่ไม่ดี 3.สถานที่สักไม่ปลอดเชื้อ 4. เครื่องมือที่ใช้สักไม่ได้มาตรฐาน และ 5. จากปัจจัยของแต่ละบุคคลเอง

สีที่ใช้สัก มีปริมาณมีน้อยกว่าที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงไม่มีการผลิตสีที่ใช้สำหรับการสักโดยตรง แต่ใช้สีที่มาจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ สีเคลีอบรถยนต์ สีที่มาจากหมึกพิมพ์ เป็นต้น เป็นสีที่ผลิตออกมาออกมาเพื่อใช้ในงานด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะ เมื่อมีการนำมาใช้กับคนจึงไม่มีความปลอดภัย และมีการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งประเภทpolycyclic aromatic hydrocarbons ในปริมาณสูงมาก สารต่าง ๆ อีกมาก ตลอดจนโลหะหนักต่างๆ โดยเฉพาะโลหะปนเปื้อนนิกเกิ้ล พบในทุกสีสีดำเป็นสีที่นิยมใช้ในการสักมากที่สุด มีส่วนประกอบหลักคือ carbon black ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ พลาสติก และอุตสาหกรรมสี มีส่วนประกอบหลายอย่างที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในคน มีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งในปริมาณสูง เกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ถึง 23,500 เท่า แม้ว่าสารก่อมะเร็งจะพบในปริมาณสูงมาก แต่จากรายงานเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนัง กลับพบค่อนข้างน้อย เนื่องจากสารก่อมะเร็งและโลหะหนักเหล่านี้เกาะกันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ แต่จากการใช้เครื่องเลเซอร์ลบรอยสัก พบว่าทำให้ขนาดอาณุภาคของสีสักลดลงได้ถึง 8 เท่า และมีการปล่อยสารก่อมะเร็งต่าง ๆ ออกมาจากเม็ดสีเป็นปริมาณมาก ถ้าเปรียบเทียบทางการแพทย์ สำหรับผู้ที่เปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดที่เบ้าและหัวกระดูกเป็นโลหะทั้งคู่ พบว่าการเสียดสีขณะใช้ ทำให้มีปฏิภาคโลหะออกมาจากข้อเทียมก่อให้เกิดผลเฉพาะที่ และตรวจพบปริมาณโลหะหนักโคบอลต์เพิ่มปริมาณมากขึ้นในกระแสโลหิต ก่อให้เกิดอาการอาการทางประสาท เช่น เหนื่อย เดินเซ สมรรถนะของการรู้คิด(cognitive function) ลดลง เช่นเดียวกัน การลบรอยสักด้วยเลเซอร์ก็ทำให้มีปฏิภาคโลหะหนักและสารก่อมะเร็งต่างๆ ออกมาจากสีที่ใช้สัก แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะบอกได้ว่าการลบรอยสักจะก่อให้เกิดผลเสียแก่ตัวผู้ป่วยระยะยาวมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่มีการศึกษาผลกระทบจากการใช้เลเซอร์รักษารอยสักกับการปล่อยสารก่อมะเร็งต่างๆ ออกมาจากเม็ดสี ทำให้ในบางประเทศ เช่น เยอรมนี แพทย์จะปฏิเสธที่จะใช้เลเซอร์รักษารอยสักในผู้ป่วย เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่ยังไม่ทราบแน่ชัด

สำหรับความพึงพอใจในการสักนั้น จากผลสำรวจผู้มีรอยสักพบว่า ผู้ที่ถูกสักมีความพึงพอใจ คิดเป็นร้อยละ 86 ร้อยละ 8 มีความพึงพอใจแต่ไม่ต้องการสักเพิ่มเติมอีก และร้อยละ 5 ต้องการลบรอยสักออก โดยในต่างประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา มีจำนวนผู้สักร้อยละ 24 ของประชากร คิดเป็นจำนวน 80 ล้านคน ในยุโรป ความชุกของการสักต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ในสหราชอาณาจักร มีประชากรที่มีรอยสักร้อยละ 12 คิดเป็นจำนวน 7 ล้านคน ในประเทศเยอรมัน มีผู้สักร้อยละ 9 ของประชากร คิดเป็นจำนวน 8 ล้านคน โดยมีกลุ่มผู้สักอยู่ในช่วงอายุ (15 - 29 ปี) ถึงร้อยละ 23 นอกจากนี้ผู้ที่มีรอยสักจำนวน 3,411 คนในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันพบว่าอายุเฉลี่ย 29.3 ปี โดยอายุที่เริ่มสักพบมากที่สุดคีอ 18 ปี เป็นเพศหญิงถึงร้อยละ 58.9 โดยร้อยละ 61.1 จะสักขนาดใหญ่กว่า 300 ตร.ซม. และร้อยละ 64.9 สักมากกว่า 1 ตำแหน่ง เกือบร้อยละ 60 สักเป็นสีดำอย่างเดียว ร้อยละ 30 สักสีอื่นๆ ร่วมกับสีดำ และร้อยละ 10 สักสีอื่นๆ โดยไม่มีสีดำ สีที่ใช้สัก ถ้าเป็นสักลวดลายสวยงาม มักใช้สีสดใส ส่วนใหญ่ในยุโรปสีเหล่านี้จะมาจากสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าเป็นสีเพื่อปกปิด มักใช้สีที่กลมกลืนดูเป็นธรรมชาติ เป็นสีที่ผลิตในยุโรปประมาณร้อยละ 70-80

ในเรื่องของแนวทางการควบคุมทางกฏหมายนั้น ในประเทศไทยและในอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก การสักยังไม่มีการควบคุม สีที่ใช้สักไม่ถือว่าเป็นยาหรือเป็นเครื่องสำอาง การสักไม่ถือเป็นหัตถการทางการแพทย์ การควบคุมในปัจจุบันอาจทำได้เพียงผ่านสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เท่านั้น วิธีการตรวจสอบสีต่าง ๆ ยังไม่มีมาตรฐานกลางทั่วโลก แต่ภายในประเทศไทยได้เริ่มมีการพยายามสร้างทีมที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลาย ๆ สาขาวิชาชีพ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการสัก จึงขอฝากเตือนให้ผู้ที่ต้องการสัก คิดสักนิดเกี่ยวกับอันตรายจากการสัก เมื่อสักไปแล้ว มีผู้สักในประเทศไทยถึงร้อยละ 5 รู้สึกเสียใจ ซึ่งหากต้องการลบรอยสักออกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อันตรายจากการลบรอยสักอาจเกิดขึ้นจากการปล่อยสารมะเร็งและโลหะปนเปื้อนต่าง ๆ ออกไปในกระแสโลหิต ซึ่งยังไม่มีใครทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียงในระยะยาวจากการลบรอยสัก

HTML::image( HTML::image( HTML::image(