จากการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กระทรวงกลาโหม และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จัดทำโครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วน ประจำปี 2558 ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างบางส่วน รวม 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ และจังหวัดราชบุรี โดยคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายพิจารณาจากพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานที่เป็นพื้นที่ดอน เสี่ยงต่อน้ำไปไม่ถึง และเป็นพื้นที่ที่ได้เริ่มปลูกข้าวแล้ว เน้นพื้นที่ปลูกข้าวช่วงอายุ 15-60 วัน (ช่วงที่ต้องการ น้ำมาก) และเป็นพื้นที่ที่น้ำบาดาลคุณภาพดี มีอัตราการให้น้ำมากกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาล และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเทอร์ไบน์ จำนวนทั้งสิ้น 511 บ่อ และทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำของบ่อสังเกตการณ์ จำนวน 380 บ่อ
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สรุปผลการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ จำนวน 415 แห่ง หรือร้อยละ 81.21 ของเป้าหมาย 511 แห่ง ปริมาณน้ำบาดาลที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ จำนวน 178,453 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าของบ่อสังเกตการณ์ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 202 บ่อ หรือร้อยละ 53.16 ของเป้าหมาย 380 บ่อ ปริมาณน้ำบาดาลที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ จำนวน 30,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแผนงานแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เกษตรให้สามารถสูบน้ำบาดาลมาใช้ได้ 350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากน้ำบาดาล ไม่น้อยกว่า 130,000 ไร่ หรือไม่น้อยกว่า 4,000 ครัวเรือน โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 179.38 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น หรือส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากร น้ำบาดาล พร้อมระดมสรรพกำลังเครื่องจักรและบุคลากรเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ซึ่งปัจจุบัน มีหน่วยเจาะบ่อน้ำบาดาลที่ดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 65 หน่วย สามารถระดมหน่วยเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มขึ้นได้อีก 15 หน่วย รวมเป็น 80 หน่วย ส่วนหน่วยติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ของบ่อสังเกตการณ์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในพื้นที่ 40 หน่วย สามารถระดมหน่วยติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้อีก 10 หน่วย รวมเป็น 50 หน่วย นอกจากนี้ ยังมีรถปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล 18 คัน สามารถรับน้ำจากบ่อสังเกตการณ์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 1,069 บ่อ หรือจากจุดจ่ายน้ำถาวรทั่วประเทศ จำนวน 87 แห่ง บรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากต่อเนื่อง 5 ปี จำนวน 2,214 หมู่บ้าน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีแนวทางให้ความช่วยเหลือโดยมีการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2559 รวมจำนวนทั้งสิ้น 202 แห่ง (ปรับปรุงบ่อสังเกตการณ์เป็นบ่อผลิต 191 แห่ง และบ่อน้ำบาดาลที่เป็นจุดจ่ายน้ำถาวร 11 แห่ง) นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีแผนดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ง เสนอต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 1,173 แห่ง ซึ่งได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลแล้วพบว่า มีความ ซ้ำซ้อนกัน จำนวน 201 แห่ง และไม่มีศักยภาพน้ำบาดาล จำนวน 61 แห่ง ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย สามารถพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลได้ จำนวน 911 แห่ง ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 1,101 แห่ง จะเป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำ ที่จะดำเนินการสำรวจเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซากต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit