การดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) สำหรับพันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB15DA

14 Jul 2015
นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงว่า สบน. ได้ดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) สำหรับพันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB15DA โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ของพันธบัตรรัฐบาลในรุ่นที่มีวงเงินสูง โดยในการดำเนินธุรกรรมดังกล่าว สบน. ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนทำการแลกเปลี่ยนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB15DA ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น มีอายุคงเหลือ 6 เดือน เป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Destination Bond) จำนวน 5 รุ่น ซึ่งมีอายุระหว่าง 3 – 23 ปี

จากการยื่นข้อเสนอดังกล่าวให้กับนักลงทุนปรากฏว่ามีนักลงทุนสถาบันจำนวนมากให้ความสนใจเข้าร่วมดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรกว่า 85,530 ล้านบาท โดย สบน. ได้จัดสรรพันธบัตรให้แก่นักลงทุนวงเงินรวม 63,960 ล้านบาท ซึ่งทำให้ยอดคงค้างของพันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB15DA ลดลงถึงร้อยละ 48 จาก 132,000 ล้านบาท เหลือ 68,040 ล้านบาท โดยรายละเอียดการแลกเปลี่ยนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลรุ่น LB15DA และ Destination Bond ทั้ง 5 รุ่น มีดังนี้

ตาราง : วงเงินการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (แบ่งตามรุ่นอายุ)

ชื่อของรุ่นพันธบัตร

อายุคงเหลือ

วงเงินการทำธุรกรรม (ลบ.)

ร้อยละ

1) LB183B

2 ปี 9 เดือน

8,039

13

2) LB206A

5 ปี

18,291

29

3) LB25DA

10 ปี 6 เดือน

9,656

15

4) LB296A

14 ปี

10,580

16

5) LBA37DA

22 ปี 6 เดือน

17,394

27

รวม

63,960

100

ประโยชน์จากการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร

1) ด้านบริหารหนี้ : ยืดอายุหนี้ที่จะครบกำหนดจาก 6 เดือน เป็น 11 ปี 9 เดือน

2) ด้านสภาพคล่อง : เพิ่มวงเงินคงค้างของ On-the-run Benchmark Bond จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุ 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี

3) ด้านการขยายฐานนักลงทุน : นักลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมทำธุรกรรม ประกอบด้วย

  • นักลงทุนสถาบันการเงินในประเทศ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และกองทุนรวม สัดส่วนร้อยละ 40
  • นักลงทุนระยะยาวในประเทศ ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม และบริษัทประกันชีวิต สัดส่วนร้อยละ 55
  • นักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ จากสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สมาพันธรัฐสวิส เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสาธารณรัฐสิงคโปร์ สัดส่วนร้อยละ 5

ในการนี้ สบน. ขอขอบคุณธนาคารตัวแทนดำเนินธุรกรรม Bond Switching ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) รวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และนักลงทุนทุกท่านที่เข้าร่วมและให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกรรม Bond Switching ของกระทรวงการคลังในครั้งนี้