การใช้พื้นที่สำนักงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 4.8% ต่อปี หรือประมาณ 100,000 ตารางเมตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ในขณะที่ อัตราพื้นที่ว่างยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ระดับ 9.7%
รายงานของแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ยังพบว่า ปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ บนถนนวิทยุยังคงเป็นอาคารสำนักงานที่มีค่าเช่าแพงที่สุดในกรุงเทพฯ โดยมีราคา 1,200 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับการเช่าพื้นที่ขนาดเล็ก ในด้านค่าเช่าพื้นที่สำนักงานยังคงเพิ่มสูงขึ้น 4-10% ต่อปีสำหรับสำนักงานในทุกเกรดและในทุกทำเล กรุงเทพฯ ยังคงเป็นหนึ่งในเมืองที่มีค่าเช่าพื้นที่สำนักงานที่ต่ำที่สุดในโลก โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีเพียงกรุงแคนเบอร์ราในออสเตรเลียเท่านั้นที่ค่าเช่ามีราคาต่ำกว่า
ปัจจุบันการใช้ที่ดินฟรีโฮลด์ที่ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสายสำคัญของกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์และได้กำไรสูงสุด คือ การพัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจากราคาที่ดินที่สูงและค่าเช่าพื้นที่สำนักงานที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีผู้พัฒนาโครงการเพียงบางรายเท่านั้นที่ซื้อที่ดินเพื่อสร้างเป็นอาคารสำนักงาน และจะทำให้ปริมาณพื้นที่สำนักงานใหม่ๆ ในอนาคตมีจำนวนจำกัด
ในกรุงเทพฯ มีพื้นที่สำนักงานเพียง 340,000 ตารางเมตรเท่านั้นที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดที่จะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 จนถึงปี 2560 อาคารเกษร ทาวเวอร์ 2 เป็นอาคารสำนักงานระดับเกรดเอเพียงแห่งเดียวในย่านใจกลางธุรกิจ หรือ ซีบีดี ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่อาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์ เป็นอาคารสำนักงานระดับเกรดเอในซีบีดีอีกแห่งมีกำหนดจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561
ย่านรัชดา-พระราม 9 เป็นย่านธุรกิจเกิดใหม่ที่ขยายตัวออกมาจากย่านซีบีดี ซึ่งมีอาคารสำนักงานคุณภาพดีที่ทั้งเพิ่งสร้างเสร็จและอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
ราว 40% ของพื้นที่สำนักงานที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างในกรุงเทพฯ นั้นตั้งอยู่ในย่านรัชดา-พระราม 9 อาทิ จีแลนด์ ทาวเวอร์ อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอาคารรุ่งโรจน์ธนกุล 4 รวมถึงยังมีแผนการสร้างเดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ ซึ่งสูง 125 ชั้น ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่สำนักงาน 90,000 ตารางเมตร พื้นที่ค้าปลีก และศูนย์ประชุม ตั้งอยู่ถัดจากพื้นที่ของจีแลนด์ ทาวเวอร์ บริเวณแยกรัชดา-พระราม 9
"ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกรรมการเช่าพื้นที่สำนักงานในซีบีดีคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70-80% พิจารณาจากธุรกรรมการเช่าพื้นที่สำนักงานในแต่ละปีของซีบีอาร์อี อย่างไรก็ตามในปี 2557 เราเริ่มเห็นปริมาณการเช่าพื้นที่ในย่านรัชดาเพิ่มขึ้นซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมของย่านนี้ในฐานะที่เป็นหนึ่งในทำเลธุรกิจที่ขยายตัวมาจากซีบีดี" นายนิธิพัฒน์ ทองพันธุ์ กรรมการบริหารและหัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงานของซีบีอาร์อี กล่าว
"เราไม่ได้คาดหวังว่าผู้เช่าพื้นที่สำนักงานจะย้ายออกจากย่านซีบีดี ผู้เช่าส่วนใหญ่ที่เช่าพื้นที่ในอาคารสำนักงานที่เพิ่งสร้างเสร็จในย่านรัชดาเป็นผู้เช่าที่มีสำนักงานเดิมอยู่ย่านดังกล่าวหรืออยู่บริเวณตอนเหนือของกรุงเทพฯ อยู่แล้ว และต้องการขยายหรือยกระดับพื้นที่สำนักงานของบริษัท มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ย้ายมาจากย่านซีบีดี" นายนิธิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติม
การเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของผู้เช่าในการพิจารณาว่าสำนักงานควรตั้งอยู่ที่ใด นอกจากย่านรัชดา-พระราม 9 แล้ว ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าทำเลในย่านอื่นที่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันได้อยู่แล้ว เช่น ย่านพญาไท-ราชเทวี และสุขุมวิทตอนปลาย (จากสถานีพระโขนงถึงสถานีบางนา) จะเป็นทำเลสำนักงานที่ ขยายตัวออกไป
จากสภาพตลาดและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซีบีอาร์อีคาดว่าตลาดอาคารสำนักงานของกรุงเทพฯ ในปี 2558 นี้จะยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราพื้นที่ว่างลดลงและค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้นต่อไป การที่แทบจะไม่มีพื้นที่สำนักงานใหม่เพิ่มเข้าสู่ตลาดเลยนั้นแสดงให้เห็นว่า แม้ปริมาณการใช้พื้นที่สำนักงานรายไตรมาสไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นหรือลดลงอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราการใช้พื้นที่จะยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ค่าเช่าปรับตัวสูงขึ้น แต่อัตราการเติบโตของค่าเช่าลดลง
อาคารสำนักงานส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นอาคารเก่า มีเพียง 14% ของพื้นที่สำนักงานทั้งหมดที่มีอายุน้อยกว่า 10 ปี ซีบีอาร์อีประเมินว่าการใช้พื้นที่สำนักงานที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจะเกิดขึ้นในกลุ่มอาคารใหม่ เนื่องจากอาคารสำนักงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันถูกเช่าเต็มแล้ว และอาคารเก่าที่อยู่ในทำเลที่ด้อยกว่าจะไม่สามารถดึงดูดผู้เช่าได้ เจ้าของอาคารสำนักงานที่สร้างมานานแล้วซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่ค่อนข้างน่าสนใจ จำเป็นต้องปรับปรุงอาคารของตนเองเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
ซีบีอาร์อี ประเทศไทย02 119 1522
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit