นักธุรกิจวอนรัฐเร่งลงทุน ฟื้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น

15 Jul 2015
ดัชนีธุรกิจกรุงไทยไตรมาส 2 ลดลงต่อเนื่อง ผลสำรวจชี้นักธุรกิจคาดหวังโครงการลงทุนภาครัฐ จะมีส่วนสำคัญช่วยฟื้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น นอกเหนือจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตลอดจนการลดลงของต้นทุนการผลิต ตามแนวโน้มราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์

นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ได้จัดทำดัชนีธุรกิจกรุงไทย (Krung Thai Business Index: KTBI) โดยสำรวจจากนักธุรกิจกว่า 2,800 รายทั่วประเทศ พบว่าดัชนี KTBI ประจำไตรมาสที่ 2/2558 ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ระดับ 50.40 จากระดับ 51.53 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายด้าน เช่น การส่งออกที่ยังหดตัว ภาวะภัยแล้งที่รุนแรง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ และเมื่อพิจารณาจำแนกตามประเภทธุรกิจ พบว่าธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นต่ำกว่าระดับปกติ ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร พาณิชยกรรม และบริการ

"ในครึ่งปีหลัง ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของลูกค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เช่น ผลกระทบจากภัยแล้ง การนำเข้าเหล็กที่เพิ่มขึ้นจากจีน ผลกระทบจากการที่จีนประกาศเพิ่มภาษีนำเข้ายางธรรมชาติที่มีส่วนผสมของยางกับสารเคมีต่างๆ ทำให้ราคารับซื้อในประเทศลดลง รวมถึงเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังเปราะบาง โดยเฉพาะวิกฤตหนี้กรีซ ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว รวมทั้งความเสี่ยงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างผันผวน"

นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง กล่าวต่อไปว่า ผลสำรวจชี้ว่านักธุรกิจคาดหวังในโครงการลงทุนภาครัฐ ที่ได้รับการอนุมัติดำเนินการ เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 2 และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน ระหว่างไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด จะมีส่วนสำคัญช่วยฟื้นเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่น นอกเหนือจากปัจจัยบวกอื่น ๆ ทั้งเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก และมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการลดลงของต้นทุนการผลิต ตามแนวโน้มราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์