นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่และประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านการเกษตรตามนโยบาย ณ จังหวัดร้อยเอ็ด ว่า รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยได้เร่งรัดให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ในลักษณะการทำงานแบบบูรณาการ และเพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาการเกษตรของจังหวัดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงให้มีการจัดวางระบบการทำงาน โดยเน้นการแก้ปัญหาหนี้สินและที่ดินของเกษตรกรที่ถูกนายทุนยึด รวมทั้งการจัดการปัญหาหนี้สินของสหกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตร โดยมีขั้นตอนการบริหารจัดการดูแลตั้งแต่ในระดับจังหวัด ระดับกรม ระดับกระทรวง จนถึงระดับรัฐบาล บริหารจัดการสินค้าเกษตรภายใต้คณะกรรมการที่ดูแลสินค้านั้น ๆ เพื่อให้เกิดการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที จึงให้ทุกหน่วยงานเร่งทำความเข้าใจและให้ความร่วมมือกันในระดับจังหวัด เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกันทั้งในเรื่องของข้อมูล อาทิ ชนิดของสินค้าเกษตร พื้นที่ปลูก ผลผลิต การส่งออก การนำเข้า มูลค่า ของสินค้าเกษตรในจังหวัด เป็นต้น รวมทั้งการขับเคลื่อนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรของจังหวัด เน้นระบบการส่งเสริมเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อสร้างความสมดุล ความต้องการสินค้า และปริมาณสินค้าที่ผลิตได้ภายในจังหวัด
"กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบายสำคัญในการส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ และการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรระดับพื้นที่ ที่มีการดำเนินงานในลักษณะการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย หลาย ๆ ราย เพื่อวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และทำการผลิตเอง ทั้งนี้ การส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ จะดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่และสินค้าเป็นหลัก ซึ่งการขับเคลื่อนระบบส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ในระดับพื้นที่จะสำเร็จได้นั้น ต้องมีผู้จัดการแปลง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการทุกกิจกรรม ตั้งแต่การจัดหาปัจจัยการผลิต การผลิต การควบคุมคุณภาพผลผลิต การเก็บเกี่ยว การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และการตลาด รวมถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" นายอำนวย กล่าว
สำหรับความก้าวหน้าโครงการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าข้าวแบบแปลงใหญ่ ของจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีการดำเนินการเตรียมความพร้อมของบุคลาการและข้อมูลที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด การคัดเลือกพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ 1) พื้นที่ ต.ป่าสังข์ อ.จตุรพักตรพิมาน 5,200 ไร่ เกษตรกร 241 ราย 2) พื้นที่ ต.ดงครั่งน้อย อ.เกษตรวิสัย พื้นที่ 1,500 ไร่ เกษตรกร 129 ราย และ 3) พื้นที่ ต.ดงครั่งใหญ่ อ.เกษตรวิสัย พื้นที่ 5,000 ไร่ เกษตรกร 280 ราย รวมทั้งได้มีการคัดเลือกผู้จัดการแปลง การจัดทำประชาคม การจัดทำข้อมูลพื้นฐานและพิกัดรายแปลง พื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนการสนับสนุนปัจจัยการผลิต และการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit