นายภารไดย ธีระธาดา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร สื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ทีเอ็มบี เผยว่า "รู้สึกภูมิใจ อย่างมากจากความพยายามของทีเอ็มบี ที่ได้ก่อตั้ง "ไฟ ฟ้า" ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 โดยเป็นโครงการซีเอสอาร์ของธนาคาร ที่มอบโอกาสและปลูกฝังเยาวชนอายุ 12-19 ปี เพื่อสร้างสิ่งดีๆ คืนสู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้กิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะแขนงต่างๆ เราสอนเยาวชนให้รู้จักการจับปลา แทนการให้ปลา จนสามารถผลิตเยาวชนที่มีความพร้อมในการเป็นผู้นำ วันนี้เราช่วยกันส่งเยาวชนให้ถึงฝั่ง ได้ต่อยอดการเรียนรู้จนจบชั้นมัธยมปลาย และรู้สึกขอบคุณในความร่วมมือจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน บุคลากรที่ดี ควรจะต้องเป็นทั้งคนดี ทำกิจกรรมเพื่อสังคม คิดถึงส่วนรวม ไม่ใช่เก่งอย่างเดียว"
ดร.อภิรมณ อุไรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่า "โครงการไฟ ฟ้า เป็นโมเดลที่ดี ที่ช่วยกระจายโอกาสทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของโรงเรียนในการสร้างผู้นำ โดยไม่ต้องจำกัดอยู่ที่กลุ่มใดเพียงกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นการมอบทุนนี้ จึงไม่ได้จำกัดเงื่อนไขของทุน อยู่ที่เกรดเฉลี่ยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพิจารณาจากการประเมินอีคิว (EQ) "
โดยเยาวชนไฟ ฟ้า ที่ได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวน จนสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายในระบบสองภาษาของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต 4 ทุน ร่วมเผยทรรศนะ
เฟร้น-วรัญญา และ ฟราย-วริศรา แสงบุตร เยาวชนไฟ ฟ้า ประดิพัทธ์ แฝดพี่น้อง อายุ 15 ปี ได้รับทุนเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เผยว่า "มีพี่สาวอีกคน ยังเรียนหนังสือที่โรงเรียน ศรีอยุธยา เราอยู่กัน 4 คนกับคุณแม่ เป็นช่างเสริมสวย ดูแลลูกทั้งสามใบเถาคนเดียว เรียนศิลปะที่ไฟ ฟ้า มา 2 ปีแล้ว ทำให้เราจากที่ไม่รู้อะไรเลยหรือเป็นศูนย์ จนกลายเป็นมือโปรฯ ได้ประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะกิจกรรมเพื่อชุมชน ดีใจมากที่เราทั้งสองคนได้ทุนนี้" ส่วน กอล์ฟ-สุทธิพร อ่อนกลาง เยาวชนไฟ ฟ้า ประดิพัทธ์ อายุ 18 ปี ได้รับทุนเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เผยว่า "ทุนนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของที่บ้านได้อย่างมาก ที่เข้ามาไฟ ฟ้า ประดิพัทธ์ เพราะอยากจะมีความสามารถพิเศษ มาเรียนดนตรี เล่นกีตาร์ รู้สึกประทับใจกับพี่ๆ และครูอาสาสมัครไฟ ฟ้า ที่สอนเราอย่างสนุกสนาน ไม่รู้สึกว่าการเรียนน่าเบื่อ ส่วนการเรียนแบบสองภาษาที่โรงเรียนสาธิตฯ เราก็ต้องค่อยๆ ปรับตัว แต่ทุกวันก็ได้คำศัพท์ใหม่ อย่างน้อย 5-10 คำ จากการเรียนดนตรีกับครูชาวอังกฤษ ในอนาคตเราก็คงจะได้เป็นครูดนตรี หรืออาจจะได้ร่วมงานดนตรีกับระดับอินเตอร์บ้าง"
การ์ด-กิตติพจน์ เชื้อดี เยาวชนไฟ ฟ้า จันทน์ อายุ15 ปี เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า "รู้จักไฟ ฟ้าเพราะเพื่อนข้างบ้านชวนไป จากนักเรียนชั้นม. 2 โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ซึ่งมักเก็บตัวอยู่ในบ้าน กลายเป็นคนที่กล้าแสดงออก ผมได้เรียนในสิ่งที่ชอบที่ไฟ ฟ้า ทั้งเต้นและขับร้อง เมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นนักเรียนของโรงเรียนหลักสูตรสองภาษาของโรงเรียนสาธิตฯ ผมต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถเข้ากับสังคมและการเรียนรูปแบบใหม่ แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดีเพราะมีเพื่อนร่วมชั้นและคุณครู รวมถึงพี่อาสาสมัครไฟ ฟ้าที่คอยช่วยเหลือ"
ความร่วมมือระหว่าง ไฟ ฟ้า โครงการซีเอสอาร์ของทีเอ็มบี และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของสถาบันการศึกษาชั้นนำและธุรกิจเอกชน ที่จะสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยได้รับการศึกษาที่ดี มีมาตรฐานสูง เพื่อจะได้พัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคม ให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าในวันนี้ รวมทั้งเป็นการร่วมมือกันเพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ของประเทศที่มีทักษะและความสามารถในหลากหลายสาขาต่อไป