นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนกรกฎาคม 2558 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนกรกฎาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากหดตัวติดต่อกัน 2 เดือน โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 47.52 จุด เพิ่มขึ้น 4.41 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนแต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนมุมมองราคาทองคำในประเทศฟื้นตัวแต่ปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก โดยเชื่อว่าเดือนมิถุนายนราคาทองปรับตัวลงหนักส่งผลต่อแรงซื้อ ประกอบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น ทั้งกรณีหนี้กรีซและฟองสบู่ตลาดหุ้นจีนที่อาจจะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดส่งให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่ม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเงินสกุลดอลลาร์และทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในการลงทุน แต่การแข็งค่าของดอลลาร์ที่เกิดจากเงินไหลเข้านั้นจะส่งผลให้ราคาทองปรับตัวลดลง แต่หากมีความเสี่ยงจากปัจจัยเดิมเพิ่มขึ้น หรือมีปัจจัยใหม่ที่กระทบการลงทุน นักลงทุนจะหันมาลงทุนในทองคำจากการมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุด เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นที่สอดคล้องกับกลุ่มผู้ค้าที่เชื่อมั่นเพิ่มขึ้น 17.31 จุด อยู่ที่ระดับ 66.60 จุด สะท้อนมุมมองเชิงบวกชัดเจน แนวทางเดียวกับกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าจะซื้อทองคำเพิ่มในช่วงเดือนกรกฎาคมถึง 40.18%
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้น 1.65 จุดมาอยู่ที่ระดับ 51.59 จุด สะท้อนความไม่แน่ใจในการฟื้นตัวของราคาทองคำในระยะกลาง โดยมีปัจจัยเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญ
บทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 9 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศเดือนกรกฎาคม 2558 จะเคลื่อนไหวใกล้เคียงเดือนมิถุนายน โดยมีผู้ค้า 1 รายมองทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 รายมองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน และผู้ค้า 1 รายเชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม
โดยผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,200-1,240 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,140-1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,000-19,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 18,000-18,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยทองคำยังได้จัดทำรายงานพิเศษเรื่องผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตหนี้กรีซ พบว่าที่ผ่านมามีผลกระทบเชิงลบผ่านการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมาก ส่วนดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยมองทางออกกรีซเป็น 3 แนวทาง คือ กรณีเจ้าหนี้ผ่อนปรนเงื่อนไขรัดเข็มขัดและอนุมติเงินช่วยเหลือ กรณีที่สองการเจรจายืดเยื้อ กรณีที่สามเจ้าหนี้ปฏิเสธความช่วยเหลือและกรีซจำเป็นต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน โดยในกรณีที่กรีซไม่ได้รับความช่วยเหลือเชื่อว่าราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยโดยน่าจะปรับตัวขึ้นได้เหนือระดับ 1,230 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit